เจาะลึกรายได้ TRUE ปี 68 กำไรมาแน่ เหตุต้นทุนลด-ค่าใช้จ่าย 2 คลื่นหมด
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวว่า ปี 2568 บริษัทจะมีกำไรสุทธิแน่นอน เนื่องจากแผนการควบรวมเครือข่ายของ ทรู ดีแทค ให้เป็นเครือข่ายทันสมัย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 10,800 สถานีจากทั้งหมด 17,000 สถานี จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2568
ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทได้บันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time costs) จากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย จำนวน 3,917 ล้านบาท ส่งผลให้มีขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี 810 ล้านบาท
เมื่อปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กำไรสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 3,107 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 709 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) ไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 9,919 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นที่การดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย
ผลประกอบการไตรมาส 3 บริษัทมีกำไรแล้ว แต่ติดลบเพราะผลกระทบจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์จากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย ปีหน้าจะกำไรไตรมาสไหน ยังบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแผนการรวมเครือข่ายในแต่ละไตรมาส
นอกจากนี้ ในปี 2568 คลื่น 850 MHz และ คลื่น 2300 MHz ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะหมดสัญญาลง ซึ่งบริษัทอาจจะไม่ได้ลงทุนต่อในคลื่นบางคลื่น ก็จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลง ภาระดอกเบี้ยก็ดีขึ้น รวมถึงนโยบายการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ส่งผลให้บริษัทได้รับประโยชน์ไปด้วยเมื่อธนาคารต่างๆมีการลดดอกเบี้ยตามนโยบาย ขณะเดียวกัน วงเงินกู้ซึ่งเชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Syndicated Loan) เป็นเงินเยนจากญี่ปุ่น ยังส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลงประมาณ 0.7-0.8 %
นกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) TRUE
นายนกุล กล่าวว่า เดือนนี้เป็นเดือนที่ 18 ของการควบรวม ทรู ดีแทค ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาหนี้สินของบริษัทลดลง 1.2 เท่า ปัจจุบันอยู่ที่ 4.4 เท่า ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.66 ราคาหุ้นอยู่ที่ 8.60 บาท ล่าสุดวันที่ 28 ต.ค.67 ราคาหุ้นอยู่ที่ 11.90 บาท เพิ่มขึ้น 38.4%
ถามว่า ราคาหุ้นบริษัทจะไปถึนไหน เขากล่าวว่า หากพิจารณาค่ามัธยฐาน (Median TP) อยู่ที่ 13.90 บาท สะท้อนว่ามีโอกาสในการเติบโตขึ้นในแง่ของราคา อย่างไรก็ตาม ราคาอาจปรับไปได้อีก
อีกทั้งสัดส่วนการลงทุนใน Thai NVDR หรือการลงทุนในหุ้นของทรู โดยหลักๆ แล้วจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งวันที่ 3 มี.ค.66 สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติใน Thai NVDR อยู่ที่ 58.41% ปัจจุบันณ วันที่ 28 ต.ค.67 สัดส่วนอยู่ที่ 61.61% สะท้อนว่านักลงทุนมีความสนใจและเชื่อมั่น ทั้งของนักลงทุนไทยและต่างชาติในแง่ของทิศทางการดำเนินงาน และผลประกอบการของบริษัท
ไตรมาส 3 EBITDA โตติดต่อกัน 7 ไตรมาส
นายนกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัทประสบความสำเร็จด้วยการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน ส่งผลให้ไตรมาส 3 ปี 2567 มีกำไรภายหลังการปรับปรุงดีขึ้นอยู่ที่ 3.1 พันล้านบาท รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC เติบโต 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และออนไลน์ รายได้รวมอยู่ที่ 5.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% (YoY) โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจ
จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการผสานการบริหารผลงานร่วมกับวัฒนธรรมองค์กร ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจเมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 3.7% (YoY) จาก ARPU เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.6% (YoY) รายได้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น 7.5% (YoY) โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU อย่างต่อเนื่องที่ 9.8% (YoY) ส่วนรายได้จากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (PayTV) เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมี ARPU เพิ่มขึ้น 1.8% จากปีที่แล้ว
สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือ D&A) ลดลง 9.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนเครือข่ายลดลง 13.3% (YoY) โดยมีปัจจัยหลักจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมทั้งจากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการจัดซื้อจัดจ้าง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ลดลง 17.7% (YoY) โดยการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมในโครงการปรับปรุงด้านธุรกิจและการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย ซึ่งจากการเร่งดำเนินการเพื่อรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมในด้านสำคัญต่าง ๆ และการมุ่งเน้นเชิงลึกในการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง
ทรู คอร์ปอเรชั่นบันทึกการเพิ่มขึ้นของ EBITDA จำนวน 5,530 ล้านบาท นับตั้งแต่การควบรวมกิจการ ซึ่งนับเป็นการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 EBITDA ปรับตัวดีขึ้น 646 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน (QoQ) เพิ่มขึ้น 2.7% (QoQ) อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่การควบรวมกิจการที่ 60.2% ในไตรมาส 3 ปี 2567
แนวโน้มสำหรับทรู คอร์ปอเรชั่นในปี 2567 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) เติบโต 4-5% เมื่อเทียบกับปีก่อน EBITDA จะเติบโต 12-14% (YoY) ในขณะที่แนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) รวมถึงการลงทุนเพื่อการควบรวมกิจการยังคงอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2567 จะยังคงมีกำไรหากไม่รวมการตัดจำหน่ายสินทรัพย์เครือข่ายที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย
ตัวเลขทางการเงินที่สำคัญในไตรมาส 3 ปี 2567
รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC จำนวน 41,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% (YoY) และคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
EBITDA อยู่ที่ 24,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% (YoY) และ 2.7% (QoQ)
อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 60.2%
กำไรสุทธิภายหลังการปรับปรุง (Normalized) จำนวน 3,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 709 ล้านบาท (QoQ)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.