“กยศ.” หวังปรับโครงสร้างหนี้ ดันยอดผ่อนชำระหนี้ปี 68 ขยับเพิ่ม10%
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า เชื่อว่ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ตามกฎหมายใหม่ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้กลับมาชำระคืนหนี้ กยศ. เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมาตรการจะมีการจัดลำดับการตัดหนี้ใหม่ โดยจะตัดเงินต้นก่อน จึงจะตัดดอกเบี้ยและตัดดอกเบี้ยค้างชำระ ซึ่งส่วนนี้จะมีผลให้ภาระการผ่อนต่อเดือนของลูกหนี้ กยศ. ลดลง และจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะของ กยศ. โดยเฉพาะสภาพคล่องนั้น ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ เพราะมีการชำระหนี้กลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังสามารถหมุนเวียนได้เป็นปกติ โดยในปีงบประมาณ 2568 กยศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 4,000 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2569 ยังต้องขอรอดูสภาพคล่องของกองทุนก่อนว่าจำเป็นจะต้องมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณหรือไม่
ในปีงบฯ 69 ต้องดูสภาพคล่องก่อนว่าจำเป็นต้องขอรับจัดสรรงบประมาณหรือไม่ ซึ่งหากจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบฯก็จะขอให้น้อยที่สุด และอยากบอกว่าสิ่งที่ กยศ. ทำอยู่คือการให้โอกาสทุกคน และเราใช้ไม้อ่อนที่สุดแล้ว อยากให้ทุกคนกลับมาใช้หนี้เพื่อส่งต่อโอกาสดี ๆ ให้กับรุ่นน้อง ส่วนการบังคับคดี ยืนยันว่ากองทุนจะทำในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น คดีจะขาดอายุความ ส่วนกรณีอื่น ๆ จะไม่ไปตามฟ้อง หรือยึดทั้งสิ้น
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวว่า ภาพรวมการรับชำระหนี้คืนของ กยศ. ในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ราว 25,000 ล้านบาท ขณะที่มีอัตราการให้กู้ยืมสูงสุดที่ 51,000 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าในปีงบประมาณ 2568 จะมีอัตราการชำระคืนเพิ่มสูงขึ้นราว 10% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นกลไกให้ผู้กู้ยืมกลับมาชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ของ กยศ. ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้แล้วราว 200,000 ราย คิดเป็น 10% จากลูกหนี้ทั้งหมด ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเชื่อมั่นว่าในปีต่อ ๆ ไปลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้มากขึ้น ส่วนรายที่ไม่ได้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากยังสามารถชำระหนี้และผ่อนในอัตราเดิมได้อยู่
เหตุผลที่ลูกหนี้ กยศ. เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ไม่มาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะมาตรการเพิ่มเติม โดยต่อไปกองทุนจะใช้ช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้สะดวกมากขึ้น เช่น ช่องทางของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือกลไกอื่น ๆที่ให้ลูกหนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันใช้วิธีเดินสายออกไปทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเราคิดว่าจะต้องมีช่องทางอื่นเข้ามาเสริม
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.