ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ-กำไรสุทธิแบงก์ ทรุด รับแรงกดดันวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง

          แบงก์พาณิชย์ได้มีการปรับลดดอกเบี้ย โดย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพียงขาเดียว สูงสุด 0.25% มีผลวันที่ 1 พ.ย.2567 

          ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับลดลงสูงสุด 0.20% และดอกเบี้ยเงินฝาก มีผลตั้งแต่วันนี้ (24 ต.ค.2567) 

          การปรับลดดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ดังกล่าว สอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา

          อย่างไรก็ตาม การปรับลดดอกเบี้ยสะท้อนไปยังส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และกำไรสุทธิของแบงก์พาณิชย์  

          “ภูวดล ภูสอดเงิน” ผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.บัวหลวง เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า การลดดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ปัจจุบัน กระทบ NIM เฉลี่ยปี 2567 ที่ราว 0.6 bps (0.006%) คาดกระทบกำไรสุทธิปี 2567 เพียง 0.4% เนื่องจากมีผลกระทบเพียง 2 เดือน

          ดังนั้น คาดผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 เรียงจาก BBL, KTB, KBANK, TTB, KKP, SCB และ TISCO

         ส่วนปี 2568 คาด NIM ลดลงเฉลี่ย 10 bps (0.10%) อยู่แล้ว บนสมมติฐานการลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง เหลือ 1.75% หากลดมากกว่าสมมติฐานดังกล่าวจึงจะมี downside

          โดยการลดดอกเบี้ยรอบนี้ ดูเหมือนว่า MOR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี) ลดลง 0.25% จะลดลงมากกว่า MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทกู้แบบมีระยะเวลา) และ MRR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ที่ปรับลดลง 0.125% 

          ด้านดอกเบี้ยเงินฝาก คาดว่าจะทยอยปรับลดลง หลังจากลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว และอาจจะเห็นการบริหารจัดการเงินฝากประจำให้สั้นลง เพื่อลดต้นทุนด้านเงินฝากได้ในอนาคต หรือการตั้งเงื่อนไขการฝากดอกเบี้ยสูงยากขึ้น เช่น เพิ่มวงเงิน ทั้งนี้ โดยทั่วไปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะลดลงน้อยกว่าเงินกู้ เนื่องจากฐานอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า

          ทั้งนี้ คาด NIM ในไตรมาส 4/2567 เฉลี่ยของกลุ่มแบงก์พาณิชย์จะอยู่ที่ 3.37% ลดลง 24 bps จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และ 10 bps จากไตรมาสก่อน และคาด NIM ปี 2568 จะอยู่ที่ 3.31% ลดลง 10 bps จากปี 2567 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑที่ดี สูงกว่าช่วงปี 2558-2565 อยู่มาก 

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้ม Credit Cost ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2568 จะลดลงราว 8 bps มาที่ 1.44% ช่วยลดผลกระทบด้าน NIM ที่ลดลงไปได้บางส่วน 

          “ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า NIM ควรจะปรับลดลง หลัง กนง. ลดดอกเบี้ย และแบงก์พาณิชย์ทยอยลดดอกเบี้ยตามมา

          โดย NIM ในไตรมาส 4/2567 ลดลงเฉลี่ยราว 5-15 bps และหากมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกในเดือน ธ.ค.2567 NIM คงลดต่อเนื่องอีก 10-20 bps ในไตรมาส 1/2568 ขึ้นกับว่าการประชุม กนง. เดือน ธ.ค.2567 จะลดดอกเบี้ยอีกหรือไม่

          บนสมมติฐานว่า กนง. ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครััง ในเดือน ก.พ.2568 เหลือ 2% คาดว่าในปี 2568 NIM จะลดเฉลี่ย 15-25 bps กดดันกำไรของแบงก์พาณิชย์ในอนาคต

          ทั้งนี้ NIM ของแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่จะลดลงมากกว่าแบงก์พาณิชย์ขนาดเล็ก อย่าง KKP และ TISCO

          “แบงก์พาณิชย์จะลดผลกระทบได้จาก Credit Cost ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Wealth Management แต่โดยภาพรวมกำไรในปี 2568 คงจะเติบโตเล็กน้อย 1-3% เท่านั้น และคงจะเริ่มดีขึ้นในปี 2569 หลังงบออก คงต้องรอให้ราคาหุ้นปรับฐาน ลงมาทยอยสะสม เพราะเงินปันผลสูง”  

          “ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า การลดดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลกระทบต่อ NIM และกำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ ดังนี้

  •           BBL กระทบ NIM ลดลง 0.04% กำไรสุทธิลดลง 4.0%
  •           KBANK กระทบ NIM ลดลง 0.02% กำไรสุทธิลดลง 1.3%
  •           KTB กระทบ NIM ลดลง 0.06% กำไรสุทธิลดลง 3.9%
  •           SCB กระทบ NIM ลดลง 0.03% กำไรสุทธิลดลง 1.5%
  •           TTB กระทบ NIM ลดลง 0.01% กำไรสุทธิลดลง 0.6%

          อย่างไรก็ตาม การปรับดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในปีนี้ อยู่ในประมาณการของตลาดอยู่แล้ว ทำให้ไม่เห็นการปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มแบง์พาณิชย์ลง ซึ่งรอบนี้การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนดอกเบี้ยเงินฝาก (ตอนปรับดอกเบี้ยขาขึ้นก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากช้ากว่าเช่นกัน) จะส่งผลให้ดอกเบี้ยรับของธนาคารต่างๆ ลดลง 

          แต่จากสัญญาณที่ผ่านมา แม้ NPL ขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีหนี้บริษัทใหญ่ตกชั้นเพิ่มเติม สะท้อนว่าคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทำให้คาดการณ์การสำรองจะลดลง ชดเชยผลลบจากรายได้ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว จึงไม่ได้กังวลกับ NIM ในปัจจุบันมากนัก

          บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่า แบงก์พาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้มี Downside risk ต่อ NIM ประมาณ 5-10 bps และ 5-10% ต่อกำไรสุทธิปี 2568 

          ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือน ธ.ค.2567 ซึ่งแบงก์พาณิชย์น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเงินฝากมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.