“คลัง” ร่วมถกธนาคารโลก-IMF ฟุ้งเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งมีเสถียรภาพ

วันที่ 23 ตุลาคม 2567 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Voting Group: SEAVG) ของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลก 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมประกอบด้วย ฟิจิ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา มาเลเซีย เนปาล สิงคโปร์ ตองกา เวียดนาม และไทย และมีผู้ว่าการธนาคารกลางในฐานะผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเข้าร่วม 13 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิก 11 ประเทศข้างต้น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา

 

      ที่ประชุมส่วนใหญ่ให้คำแนะนำเชิงนโยบายและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ และปัญหาด้านหนี้สาธารณะ รวมถึงสนับสนุนการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

      นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การปรับสมดุลของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐและการมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาแรงผลักดันในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเสริมสร้างการระดมทรัพยากรในประเทศ การจัดการหนี้ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยนายเผ่าภูมิฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ยกตัวอย่างนโยบายของประเทศไทย ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของรัฐผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การขยายฐานภาษีจากนโยบายการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตามกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

 

      รวมทั้งได้เสนอแนวคิดการลดการยกเว้นการลดหย่อนภาษีที่ไม่จำเป็นเพิ่มเติมในการหารือดังกล่าวด้วย ซึ่งผู้แทนจากธนาคารโลกและ IMF ได้ให้ความเห็นว่าประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบริบทและความท้าทายที่แตกต่างกันจึงจำเป็นต้องมีการปรับความสมดุลด้านการคลังในระยะเวลาที่ต่างกันให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ
 

      นอกจากนี้ นายเผ่าภูมิ ได้หารือทวิภาคีกับนาง Manuella V. Ferro รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยและแนวนโยบายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและธนาคารโลก พร้อมทั้งได้เน้นย้ำถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยและแนวนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตลอดจนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล 

 รองประธานธนาคารโลกได้แสดงความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง และเห็นว่านโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน นโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณเพื่อส่งเสริมการออมสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภาพของภาคการเกษตรจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน เอื้อต่อการขยายตัวของการลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งรองประธานฯได้ให้ความสนใจกับนโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณโดยจะศึกษาตัวอย่างของประเทศไทยต่อไป

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.