เปิด 4 แนวทาง ไทยลดเสี่ยงถูกหั่นเครดิตเรตติงจาก BBB+

          ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ออกบทวิเคราะห์ “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติงจาก BBB+ หรือไม่” โดยระบุว่า ปัจจุบันอันดับเครดิตเรตติงของประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ มุมมองมีเสถียรภาพ โดย Fitch ประเมิน ณ วันที่ 13 พ.ย.2566 ว่า ไทยมีจุดแข็งด้านต่างประเทศ (ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ) กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคน่าเชื่อถือ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวและกู้ในประเทศ 

          อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนไทย คือ มิติเชิงโครงสร้าง (รายได้ต่อหัวต่ำ โครงสร้างประชากรไม่เอื้อ) มิติเศรษฐกิจมหภาค (หนี้ภาคเอกชนสูง) และมิติการคลัง (หนี้ภาครัฐและขาดดุลการคลังสูงขึ้นมาก) โดยไทยอาจได้ปรับเพิ่มอันดับก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง โดยไม่กระตุ้นให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มมากเกินไป หรือรัฐบาลสามารถลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลงได้ 

          ขณะเดียวกัน ไทยอาจถูกปรับลดอันดับได้หากไม่สามารถคุมให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP มีเสถียรภาพได้ หรือหากความไม่สงบทางการเมืองเพิ่มขึ้นจนกระทบประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายภาครัฐและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

          SCB EIC ประเมินว่า จุดอ่อนและความเสี่ยงของอันดับเครดิตเรตติงไทยน่ากังวลขึ้นในหลายประเด็น โดยเฉพาะ (1) ความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ เนื่องจากวินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นแผนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางยังสูงกว่าระดับปกติ (ต่ำกว่า 3% ของ GDP) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยจึงยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก Peers ที่สามารถปรับลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐลงมาได้หลังโควิด

          2) เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงด้านสถานการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรงของไทยลดลงมากในระยะหลัง แต่ประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย ซึ่ง Fitch ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติงประเทศ 

          และ 3) อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพหลายด้าน

          ทั้งนี้ หากประเทศถูกลดอันดับเครดิตเรตติง จะทำให้ภาครัฐมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น จนทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อชำระดอกเบี้ยจ่ายหรือลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ ต้นทุนกู้ยืมของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นเดียวกัน กดดันการลงทุนในประเทศ และเศรษฐกิจในภาพรวม

          ดังนั้น SCB EIC เสนอแนวทางลดความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่ 1) จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่านการจัดสรรงบประมาณให้คุ้มค่าลดรายจ่ายไม่จำเป็น และปฏิรูปภาษีในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อควบคุมให้หนี้สาธารณะยั่งยืนขึ้น 2) ออกแบบกลไกติดตามวินัยการคลัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม 

          3) ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ในตลาดโลก และ 4) เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น ได้แก่ ความทั่วถึงเท่าเทียม (Inclusiveness) ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม (Sustainability) นวัตกรรม (Innovation) และความล้มยากลุกเร็ว (Resiliency) 

          นอกจากจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับมือบริบทโลกและมีส่วนช่วยยกระดับคะแนนด้าน ESG ของไทยแล้ว ยังจะส่งผลกลับมาช่วยให้ตัวเลขการเติบโตเชิงปริมาณของเศรษฐกิจหรือ “GDP” สูงขึ้นอีกทาง นับเป็นปัจจัยบวกต่อการพิจารณาอันดับและมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะข้างหน้า

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.