คลังแนะรื้อกฎหมายแชร์ลูกโซ่ ปม ดิไอคอนกรุ๊ป
ปฎิเสธไม่ได้ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง คือหน่วยงานที่ดูแล พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ) เนื่องจาก ในช่วงระหว่างปี 2520-2528 มีเคสแชร์น้ำมัน (นางชม้อย์ ทิพย์โส) ขึ้นมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ
สศค.จึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินการรับเรื่องราว ร้องทุกข์จากผู้ได้รับความเสียหายจากธุรกิจการเงินนอกระบบ รวมทั้งการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ศึกษา วิเคราะห์การ ดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในเบื้องต้น
ทว่าที่ผ่านมา การทำงานของ DSI มีประสิทธิภาพมากกว่า และบทบาทการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เป็นกฎหมายในลักษณะปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา
จึงเห็นควรเสนอปรับแก้กฎหมายโดยมีการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดิไอคอนกรุ๊ป อยู่ใต้อำนาจ สคบ.
ทว่าในประเด็น ดิไอคอนกรุ๊ป ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ได้มีการสอบถามการทำธุรกิจกับ สศค.แล้วนั้น สศค.ชี้แจงว่า
หนังสือของ สคบ. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2561 เพื่อขอให้ สศค. พิจารณาข้อหารือลักษณะการประกอบธุรกิจและได้ส่งแผนธุรกิจและ แผนการตลาด พร้อมสำเนาเอกสารหลักฐานของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มาให้พิจารณานั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สศค. แต่อย่างใด
เนื่องจาก ดิไอคอนกรุ๊ป จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2561 บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจหรือมีผู้เสียหายที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และ สศค.เองก็ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนใดๆ
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในระบบจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงของสคบ. พบว่า บริษัทฯ ได้จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ. เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562 จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของ สศค. เพราะหากมีการรับรองจาก สศค. อาจถูก ดิไอคอนกรุ๊ป นำความเห็นนั้นไปใช้โดยไม่ถูกต้องในภายหลัง
สศค. มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ได้รับความเสียหายจากธุรกิจการเงินนอกระบบ รวมทั้งการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ศึกษาวิเคราะห์การดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในเบื้องต้น ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการฟ้องร้องและต่อสู้คดี ศึกษา วิเคราะห์และเสนอความเห็นในการยึดและอายัดทรัพย์สิน
การทำงานของ สศค.จะดำเนินการตอบข้อร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากเอกสารที่ได้รับเท่านั้น ถ้าในข้อร้องเรียนใดพิจารณาแล้วน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ หรือข้อร้องเรียนนั้นอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ และมีผู้เสียหายเกิดขึ้น สศค. จะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสืบสวน สอบสวน หาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีต่อไป
3 องค์ประกอบเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน
สำหรับพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 4 วรรคแรก แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน
ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ต้องเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ซึ่งการโฆษณาหรือประกาศจะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ก็ได้ เช่น การแจกเอกสาร การเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ หรือเป็นการบอกกล่าวระหว่างกันของบุคคลในลักษณะปากต่อปาก เป็นต้น
2.มีการให้สัญญาว่าจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าร่วมการลงทุนซึ่งการจ่ายผลตอบแทนจะจ่ายเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ได้ โดยผลประโยชน์ตอบแทนที่จะจ่ายให้นั้นเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้
3. ผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นนำเงินจากผู้เข้าร่วมลงทุนรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้กับผู้ลงทุนรายก่อน หรือผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทน พอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้
การพิจารณาว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่อาจเข้าข่ายเป็นการขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ นั้น จะต้องมีการสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทน หรือเสนอผลตอบแทนจากการหาสมาชิก มิใช่การได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า และมีการชักจูงว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง
ทั้งนี้การพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดเป็นรายกรณี ๆ ไป
เสนอ รมว.ยุติธรรม ดูแลพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สศค. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานในการดูแลพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ ก็ตาม แต่จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า บทบาทการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เป็นกฎหมายในลักษณะปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา
อีกทั้ง การปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการปราบปรามการกระทำความผิดโดยการแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ สอบสวนดำเนินคดี รวมถึงมีการยึด อายัดทรัพย์สิน ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด
ปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการใช้บังคับกฎหมายโดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญมากกว่า
ประกอบกับข้อจำกัดของบุคลากร และอัตรากำลังของ สศค.ในการปฏิบัติงานสืบสวน ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดตาม พรก. การกู้ยืมเงินฯ ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอปรับแก้กฎหมายโดยมีการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.