คัด 28 หุ้นเด่น ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลง ลุ้น กนง. ลดดอกเบี้ย Q1/68 อีก 0.25%

          วานนี้ (16 ต.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

          จากกรณีดังกล่าว บล.กรุงศรี มองบวกต่อมติ กนง. ด้วยเหตุผลหลัก คือ 1) สัญญาณนโยบายการเงินการคลังสอดประสาน อย่างที่ตลาดคาดหวัง สร้างสัญญาณบวกต่อการกลับมาขยายตัวเศรษฐกิจ 2) การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เรามองมีส่วนช่วยทั้งฝั่งเศรษฐกิจ ลดภาระดอกเบี้ยประชาชน หนุนโอกาสเห็นภาพขยายตัวสินเชื่อและกำลังซื้อ การลงทุนที่กลับมาหนุนเศรษฐกิจ 3) จุดยืนของ ธปท. ที่มองการลดครั้งนี้ ไม่ใช่การเข้าสู่ Easing Cycle ทำให้เชื่อว่าระดับหนี้ครัวเรือนยังบริหารจัดการได้ 

          4) มุมมองต่อเศรษฐกิจระยะถัดไปที่ยังคงเดิม แม้มีปัจจัยเสี่ยงระดับมหภาคระยะหลังบ้าง เช่น สถานการณ์ตะวันออกกลาง รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ยังไม่แน่นอน ธปท. มองภายในมีปัจจัยบวกที่ช่วยสร้าง Upside Risk ชดเชยได้ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯ
 
          ดังนั้น มองบวกต่อ SET การลดดอกเบี้ย ทำให้ Equity  risk Premium ตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้นถึง 3.62% ใกล้ +1SD ที่ 4%+/- จะทำให้ตลาดหุ้นเร่งขึ้น สู่ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2568 ที่ 1,540 จุด โดยประเมินทุกๆ  25 bps เป็น Upside ต่อ SET Index  ราว 45-50 จุด 

          ส่วนหุ้นเด่น แนะนำ กลุ่มได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยปรับลดลง กลุ่มเช่าซื้อ (จำนำทะเบียน MTC, JMT) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF, GPSC) กลุ่มหนี้สูง (CPALL, TRUE, IVL) กลุ่มอสังหาฯ (AP, SIRI, SC) กลุ่ม High Yield (ADVANC)

          สอดคล้องกับ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น 2 ปี 3 เดือน (ส.ค.2565-ต.ค.2567) ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นจาก 0.50% เป็น 2.50% ขณะที่ SET INDEX ถูกกดดันมา และปรับตัวลงมาแล้วกว่า 10% และมีกลุ่มหุ้นที่ถูกกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ย แล้วปรับตัวลงแรงๆ กลุ่มแบกรับต้นทุนการเงินสูงขึ้นกดดันอัตรากำไรสุทธิลดลง อย่าง STEEL -44%, PETRO -41%, FIN -39%, CONMAT -35%, AUTO -31%, CONS -28%

          การจบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และเริ่มเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมิน หาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ดังนี้

          1. กลุ่มหุ้นที่มีโอกาสรายได้สูงขึ้น คือ หุ้นโบรกเกอร์ (KGI, MST, FNS), COMM (CPAXT, CPALL, BJC), PROP (AP, SC, SPALI)

          2. กลุ่มหุ้นต้นทุนทางการเงินลด ราคา LAGGARD คือ PETRO (IVL, PTTGC), FIN (MTC, SAWAD, TIDLOR), CONMAT (SCC), CONS (CK, STEC)

          3. กลุ่มหุ้นปันผลสูง คือ PTT, TISCO, CPNREIT, DIF, LH

          เช่นเดียวกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC มอง กนง. จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการปรับลดเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินตึงตัวจะส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป 

          สะท้อนในการสื่อสารของ กนง. รอบนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามรักษาสถานะความเป็นกลาง (Neutral stance) ของนโยบายการเงินไว้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ กนง. ประเมินว่า ยังใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน และยังให้ความสำคัญปัจจัยเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อนๆ 

          โดย กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยควรมีบทบาทในกระบวนการ Debt deleveraging โดยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงทำให้จังหวะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับผลกระทบของภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นหลัก

          SCB EIC ประเมินว่า จะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งภายในไตรมาส 1/2568 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม โดยภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง

          1) สถานการณ์สินเชื่อ SCB EIC ประเมินว่า นอกจากความกังวลของ กนง. เกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ SMEs แล้ว การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม จากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงิน ซึ่งจะยังมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ปรับด้อยลงอย่างต่อเนื่อง 

          2) ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะปรับสูงขึ้น ตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยได้ แม้ปัจจุบันการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง 

          3) ภาวะการเงินโลกจะผ่อนคลายลงต่อเนื่อง ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก สภาพแวดล้อมทางการเงินโลกจะเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากขึ้น

          SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1/2568

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.