ผู้บริหาร-พนักงานถูกขังลืม2ปีเตรียมฟ้องกลับ GGC คดีสต๊อกทิพย์ 2 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีหมายเลขดำที่. อ.2079/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3201/2567 สืบเนื่องจาก เหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังของ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กลุ่มบริษัทในเครือปตท. สูญหาย เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2561
ตามที่ GGC ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ GGC ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนภายใน มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยได้ตัดสินให้ผู้บริหารและพนักงาน ที่เกี่ยวข้องพ้นสภาพการเป็นพนักงาน และแจ้งความดำเนินคดีผู้บริหารพนักงาน และคู่ค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร GGC 2 ราย กรณีเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียนและในบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการทุจริตจนเป็นเหตุให้ GGC ได้รับความเสียหาย โดยได้กระทำผิดพร้อมพวกที่เป็นเอกชน
กรณีร่วมกันดำเนินการให้บริษัทฯ ซื้อวัตถุดิบและจ่ายชำระเงินค่าซื้อเต็มจำนวนให้แก่ผู้ขาย โดยไม่ได้รับวัตถุดิบทั้งหมดหรือได้รับเพียงบางส่วน แต่กลับลงบันทึกในระบบบัญชีของบริษัทฯ ว่าได้รับวัตถุดิบครบถ้วนแล้ว รวมทั้งกรณีส่งมอบวัตถุดิบไปกลั่นโดยไม่ได้มีการกลั่นจริง อันทำให้ GGC ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2,157 ล้านบาท
ต่อมาผู้บริหาร GGC 2 ราย เจ้าหน้าที่ 6 ราย และ เอกชนถูกฟ้องเป็นคดีอาญา โดยศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องทุกประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก จำเลยร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องหรือไม่ ศาลอาญาวินิจฉัยว่า คดีฉ้อโกงเป็นคดีที่ยอมความได้ การที่โจทก์ร่วม (GGC) ได้สอบสวนและลงโทษทางวินัยของจำเลยที่ 1,2 , 4-7 และเรียกจำเลยที่ 8,9 ซึ่งลาออกไปแล้วมาสอบสวนในช่วงปี 61 ถึง กลางปี 62 แสดงว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ร่วม (GGC) โดยนายสุทธิสารฯ กลับแจ้งความร้องทุกข์ให้เอาผิดแก่จำเลย ที่ 1,3-9 ในปี 64 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน หลังรู้ตัวผู้กระทำผิดเป็นอันหมดอายุความในการเอาผิดจำเลยฯ
ส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ไว้ตั้งแต่แรกนั้นคำให้การของตัวแทนโจทก์ร่วม (นายสุทธิสาร และนางสาววัลภาฯ) ได้ให้การตรงกันว่ามีการซื้อขายผิดปกติกับจำเลยที่ 3 หลายรายการโดยเป็นการทำสัญญา เปิดใบสั่งซื้อ และจ่ายเงินในวันในวันเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การแก้คำฟ้องว่าเป็นการทำตามปกติของธุรกิจนี้และบริษัทก็ไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามให้ทำไว้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ร่วม(GGC) ได้มีการซื้อขายแบบดังกล่าวมาก่อนที่จะเกิดเหตุหลายครั้งทั้งกับคู่ค้ารายอื่นๆที่ไม่ได้เกิดปัญหาก็มีการทำแบบเดียวกัน ไม่ได้เป็นการจงใจ กระทำแต่อย่างใด เห็นควร ยกฟ้องจำเลย2 ในข้อหาฉ้อโกง
ประเด็นที่ 2 จำเลยที่ 1,2 กระทำผิดตามพรบหลักทรัพย์หรือไม่ และจำเลยที่ 3,4,5,6,7,8,9 กระทำผิดฐานสนับสนุนหรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่1 เป็นผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ดูแลบริหารองค์กรในภาพรวมและมีหน้าที่อนุมัติกรอบราคาตามที่จำเลย 2 ได้นำเสนอมา จำเลย 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายมีหน้าที่ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบของบริษัทอย่างรอบคอบ จำเลยที่ 4-9 เป็นพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่1 และ2 ในคดีนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจำเลย 1 ได้สั่งการให้จำเลย2 ไปติดตามทวงถามของที่ค้างจนเป็นผลให้ทางไทยศรีทอง ดำเนินการคืนของมาได้บางส่วนและมีการจัดทำแผนการส่งของที่เหลือมาคืนอย่างชัดเจนถือว่าเป็นการพยายามแก้ไขปัญหาของจำเลย 1 และ 2 ประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นอย่างเป็นประจักษ์ว่าจำเลย 1 และจำเลย 2 ได้มีการรับผลประโยชน์จากบริษัทไทยศรีทอง ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ศาลได้เห็นแต่อย่างใดการซื้อขายดังกล่าวก็เป็นการกระทำมานานก่อนเกิดเหตุจนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของโจทก์ ร่วม ฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1,2 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์จึงมีเหตุควรสงสัยยกประโยชน์แห่งเหตุอันควรสงสัยให้จำเลยที่1 และ2 ว่าไม่มีความผิดตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 4-9 ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนนั้นเมื่อจำเลยที่1,2 ไม่มีความผิดจึงไม่มีความผิดไปด้วย ส่วนจำเลย 3 นั้นเมื่อเกิดเหตุได้มีการพยายามแก้ไขโดยการส่งของคืนบางส่วนและมีการทำตารางที่จะทยอยส่งคืนอีกด้วยถือว่าไม่มีเจตนาในการกระทำผิดจึงยกฟ้องจำเลยที่ 3
ประเด็นที่ 3 เรื่องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยทุกคนไม่มีความผิดประกอบกับโจทก์ร่วม(GGC)ได้ไปยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของบริษัทไทยศรีทอง กับกรมบังคับคดีและบริษัทไทยศรีทอง อยู่ในระหว่างการล้มละลายแล้ว ขั้นตอนทางแพ่งจึงไม่เกี่ยวกับจำเลย ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
คดีนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ เป็น TALK OF THE TOWN ของกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. มีการทุจริต และ/หรือ มีการบริหารงานที่ผิดพลาด ของบอร์ด GGC ซึ่ง บอร์ด GGC รับรู้รับทราบการบริหารงานทั้งหมดในทุกขั้นตอน แต่เลือกที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้บริหารเพียง 2 ราย และพนักงานระดับล่าง อีก 6 ราย
สุดท้ายแล้วศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา ทุกประเด็น ซึ่งจำเลยในคดีอาญาทั้งหมด 9 รายได้ถูกขังในระหว่างที่มีการพิจารณาคดี ร่วม 2 ปี โดยที่ไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากคดีมีทุนทรัพย์สูงกว่า 2 พันล้านบาท ผลคดีกลับตาลปัตร ไม่เป็นดังที่ บอร์ด GGC ได้วางแผนเอาไว้
ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ถูกขังลืมร่วม 2 ปี อาจรวมตัวกันฟ้อง บริษัท GGC และ กรรมการบริษัท GGC ร่วมกันกระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยเฉพาะคดีอาญา ความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 , ความผิดในกระบวนการยุติธรรม แจ้งความเท็จ , ฟ้องเท็จ และ/หรือ เบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา 172 , 175 และ 177 รวมทั้งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่มีการรีบเร่งสรุปสำนวนตามคำสั่งการ
ทั้งที่ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น กลับส่งฟ้องโดยปราศจากพยานหลักฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.