"ไทยเบฟ" ย้ำชัด 3 เดือนส่งท้ายปีเข้าสู่ช่วงท้าทายแต่ดี พร้อมกาง PASSION 2030
"เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี แน่นอนว่ายังมีความท้าทายในเรื่องของเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว กำลังซื้อหลายประเทศเริ่มลดลง ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในไทย ซึ่งกดดันยอดขาย แต่ยังมองภาพการบริโภคในประเทศมีโอกาสฟื้นกลับมาได้ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และกลุ่มไทยเบฟยังรอคอยการกระตุ้นและการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลย่อมต้องเร่งดำเนินการฟื้นตัวเศรษฐกิจ"ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
แม้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% ผลจาก "ธุรกิจเบียร์" รายได้แตะระดับ 93,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% มี EBITDA น่าพอใจเติบโต 10.2% ด้วยต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณ์ลดลง แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9%
นอกจากนี้ "ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์" มีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้น5.3% มี EBITDA 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และ "ธุรกิจอาหาร" มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% มี EBITDA แตะ 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ "ธุรกิจสุรา" รายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย -0.9% EBITDA ลดลง -1.3% จากปริมาณขายรวมลดลง -2.7%
"แม้รายได้ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้อาจไม่ได้เติบโตสูงมากแต่กำไรถือว่าดี ซึ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แนวโน้มดี แต่มีความท้าทายหลายเรื่อง"
"ธุรกิจไทยเบฟ" ในปัจจุบันประกอบด้วย 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา , เบียร์ , เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร โดยกลุ่มบริษัทไทยเบฟมีโรงงานผลิตสุรา 19 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อีก 20 แห่งในประเทศไทย และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมจุดขายมากกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ
กลุ่มบริษัทไทยเบฟจำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีเครือข่ายโรงงานผลิตเบียร์ 26 แห่งในเวียดนาม ที่ผลิต Bia Saigon และ 333 ของซาเบโก้ โรงงานผลิตสุรา 5 แห่งในสกอตแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์ เช่น บัลแบลร์ (Balblair) โอลด์ พุลท์นีย์ (Old Pulteney) และสเปย์เบิร์น (Speyburn) โรงงาน 1 แห่งในฝรั่งเศส สำหรับผลิตสุราลาร์เซน คอนญัก โรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในนิวซีแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์โลกใหม่ (New World Spirits) ของคาร์โดรนา โรงงาน 2 แห่งในเมียนมาของ GRG และโรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในจีนซึ่งสำหรับผลิตสุราอวี้หลินฉวน (Yulinquan)
อัดฉีดกว่า 1.8 หมื่นล้าน
ในปี 2568 เตรียมเงินลงทุนเพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาท ถือว่าสูงขึ้นกว่าปกติที่ลงทุนปีละราว 7,000-8,000 ล้านบาท ด้วยการลงทุนโครงการ Agri Valley Farm ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ รวมถึงการขยายโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มไทยเบฟมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
PASSION 2030 โตยั่งยืน
ไทยเบฟต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 สู่ความยั่งยืนใน "PASSION 2030" เติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเน้นให้ความสำคัญ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก คือ "กระจายสินค้าด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่ง (Reach Competitively)" พัฒนาการส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่างๆได้อย่างทั่วถึง และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งเจาะตลาดได้อย่างครบวงจรไร้รอยต่อ ด้วยศักยภาพอันแข็งแกร่งที่พร้อมแข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและการให้บริการที่มีคุณภาพ
"เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การบริการประทับใจเท่านั้น แต่สินค้าต้องดี ทุกอย่างต้องครบ เพราะลูกค้าต้องการทุกอย่างที่ดี นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำอย่างมืออาชีพที่ต้องดีพร้อมทุกด้าน"
เรื่องที่สอง คือ "ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต (Digital for Growth)" กลุ่มมีความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตและการแข่งขันในอนาคต
"ถามว่าเรื่องดิจิทัลเราให้ความสำคัญมากแค่ไหน แน่นอนว่าต้องลงลึกทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill , ความคล่องตัว , รวดเร็ว , User Friendly ฯลฯ ทุกสิ่งต้องเร่งดำเนินการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการแข่งขันในอนาคตได้"
อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายน 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (IBIL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (TCCAL) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (FPL) ทั้งหมด 28.78% ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (F&N) 41.30% ให้แก่ IBIL ทำให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็น 69.61% โดยกลุ่มจะเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น
ผ่าอาณาจักร 5.6 แสนล้าน ‘สิริวัฒนภักดี’ ในมือ 5 ทายาทโต้คลื่นธุรกิจครั้งใหญ่
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.