STTC ยื่นไฟลิ่ง เสนอขายไอพีโอไม่เกิน 100 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้า mai

นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ บริษัท สมาร์ททีทีซี จำกัด (มหาชน) หรือ STTC เปิดเผยว่า STTC  ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

ปัจจุบัน STTC มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 400 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท โดยมีทุนที่ชำระแล้ว 150 ล้านบาท และจะเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท 

สำหรับวัตถุประสงค์ของการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงิน และรองรับการขยายกิจการของบริษัท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ

นางพรทิพย์ เทพตระการพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ททีทีซี จำกัด (มหาชน) หรือ STTC กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้นำนวัตกรรมมิเตอร์ไฟฟ้าแบบดิจิทัล ทั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Meter) และมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) เพื่อวิถีชีวิตและสังคมยุคใหม่ ตอบรับเทรนด์การอนุรักษ์พลังงาน โดยมีประสบการณ์เป็นผู้ผลิต ติดตั้ง วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านมาตรวัดไฟฟ้า หรือมิเตอร์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการมากมายกว่า 25 ปีที่ผ่านมา 

ดังนั้นส่งผลให้บริษัทมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านมิเตอร์ไฟฟ้า และได้รับความเชื่อมั่นจากหน่วยงานชั้นนำทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้จำหน่ายไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการผลิต จำหน่าย และบริโภคไฟฟ้าของประเทศไทยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คำนวณค่าไฟฟ้าอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า  

บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามิเตอร์ไฟฟ้าของประเทศให้เป็นมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมยุคใหม่ และช่วยให้การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น” 

ปัจจุบันแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า (Meter Production) โดยมีผู้ซื้อหลัก ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 2. งานบริการอื่นๆ เช่น งานจำหน่ายพร้อมติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า (Sell and installation) เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมในการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า 

ในปี 2566 บริษัทได้ชนะการประกวดราคาในโครงการจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนมิเตอร์แบบจานหมุนทั่วประเทศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยบริษัทรับผิดชอบการจำหน่ายมิเตอร์และติดตั้งเพื่อส่งมอบงานแก่ กฟภ. ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการในปี 2566 เป็นปีแรก และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาเป็นรายปีต่อเนื่องจนแล้วเสร็จภายในปี 2573 เพื่อดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

ขณะที่ผลิตภัณฑ์มิเตอร์ไฟฟ้าของบริษัท แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.มิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Meter) มีคุณสมบัติในการแสดงผลค่าพลังงานแบบดิจิทัลบนหน้าจอแอลซีดี จุดเด่นคือระบบป้องกันการละเมิดการใช้ไฟฟ้า และมีความแม่นยำในการอ่านค่า ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการอ่านค่าจากระยะไกลด้วยสัญญาณบลูทูธผ่านอุปกรณ์อ่านค่า นอกจากนี้ยังสามารถเก็บบันทึกข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เช่น ข้อมูลแรงดันไฟฟ้า ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา และข้อมูลอัตราการบริโภคไฟฟ้าสูงสุดแต่ละช่วงเวลา 

และ 2.มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) ที่บริษัทวิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย (พ.ศ. 2558-2579) มีจุดเด่นคือสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น ควบคู่กับการนำระบบสัญญาณสื่อสารมาพัฒนาให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลระยะไกลแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อวัน ข้อมูลช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แจ้งเตือนไฟฟ้าตก เป็นต้น ทำให้ผู้จำหน่ายไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปจดหน่วยการใช้ไฟฟ้า โดยมีโรงงานอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสายพานการผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แบบ 1 เฟส 800,000 เครื่องต่อปี

นางพรทิพย์ กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนามิเตอร์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง มิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และมิเตอร์อัจฉริยะทุกรุ่นของบริษัทได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยเพียงรายเดียว เมื่อเดือน มิ.ย.2566 ด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม เป็นระยะเวลา 3 ปี จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้รับอนุญาตจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 

ทั้งนี้ จะมีผลให้ได้รับการสนับสนุนตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน และพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 สำหรับพัสดุส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ โดยได้รับการสนับสนุนไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดซื้อสินค้าดังกล่าว

“เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนามิเตอร์ไฟฟ้าของไทยสู่การเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ พร้อมทั้งต่อยอดนวัตกรรมในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สามารถวางแผนการผลิตและจัดส่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น สามารถนำข้อมูลที่แสดงผลไปวิเคราะห์และวางแผนการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และให้ธุรกิจก้าวไปได้ไกลมากขึ้น” นางพรทิพย์ กล่าว  

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.