ผ่ากลยุทธ์ ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ฝ่ามรสุมแข่งดุ ปั้นกำไร ไปรษณีย์ไทย 350 ล้าน

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยอมรับว่า ตอนนี้ไปรษณีย์ไทย กว่าจะทำให้ไปรษณีย์ไทย พลิกฟื้นมีกำไรได้ ล้วนมาจากกลยุทธ์ในการปรับตัวของไปรษณีย์ไทย ในทุกด้าน ทั้งเรื่องบริการที่ดี การลดต้นทุน การสร้างบริการใหม่ และการหาช่องทางรายได้เพิ่ม เมื่อเห็นพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป

ปี 2566 ไปรษณีย์ไทย มีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 7.40% มีกำไร 78.54 ล้านบาท รายได้หลักมาจากธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 19.35% ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้ 22,802 ล้านบาท กำไรสุทธิ 350 ล้านบาท 

เพิ่มทางเลือกรายได้ใหม่ หนีคู่แข่ง

ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีพนักงานทั้งสิ้น 38,000 คน เป็นพนักงานส่งของ 25,000 คน พนักงานของไปรษณีย์ไม่เพียงการส่งของเท่านั้น แต่เรายังมีการส่งเสริมให้พนักงานมีรายได้เพิ่มจากเงินเดือน 20% เพราะเราเห็นข้อมูลว่า คนสูงวัยที่อยู่บ้าน เขาไม่ซื้อสินค้าออนไลน์ พนักงานของเราคุ้นเคยกับคนสูงวัยที่อยู่บ้าน อยู่แล้ว จึงกลายเป็นช่องทางในการส่งรายการสินค้าให้กลุ่มนี้เลือกซื้อได้ ผ่าน แพลตฟอร์ม ThailandPostMart ดูง่าย สั่งง่าย โดยพนักงานไม่ต้องขายเอง

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย

ขณะที่ในสภาพตลาดที่แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ กลายเป็นช่องทางซื้อสินค้าของคนไทย ทำให้ไปรษณีย์ไทยเล็งเห็นความเสี่ยง หากแพลตฟอร์มออนไลน์ใช้แต่บริการขนส่งสินค้าของตนเอง ทำให้เราต้องสร้างทางเลือกด้วยการปรับโฉมสาขาของไปรษณีย์ไทยเป็น โพสต์ คาเฟ่ เพื่อเพิ่มช่องทางขายสินค้าแบบออฟไลน์ ให้คนได้ซื้อและส่งของกับเราฟรี ช่วยสินค้าชุมชน SME ปัจจุบันมีรายได้ 600 ล้านบาท ไปสู่เป้า 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

เขาเล่าถึงหลักการนี้ง่ายๆ ว่า พ่อค้า แม่ค้า ที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เขาก็คือพ่อค้าคนกลางบ้าง เป็นเจ้าของสินค้าบ้าง เขาเองก็กระทบ เมื่อ TEMU มา เพราะราคาถูก สินค้าตรงจากโรงงานจีน ขณะเดียวกันเขาก็ผูกขาดส่งของกับขนส่ง J&T รายเดียว แต่ถ้าสินค้าของเขามาขายในสาขาของไปรษณีย์ โมเดลเหมือนร้านสะดวกซื้อ เราเก็บค่าคอมมิสชั่นไม่แพง แต่ได้โปรโมชันส่งฟรี เราก็มีทางเลือก แม่ค้าก็มีทางเลือก

ผันตัวเป็น Information Logistics  

ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ไปรษณีย์ไทยจะก้าวสู่การเป็น Information Logistics มีบริการ Prompt Post บริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการยุคดิจิทัล โดยมีบริการต่างๆเหล่านี้ ได้แก่ Trust Service การรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัลด้วยใบรับรองดิจิทัลและกุญแจส่วนบุคคล 

Digital Postbox การจัดเก็บเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ One-stop service การสนับสนุนการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 

Prompt pass บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน บริการ Postman Cloud ที่ใช้ความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์ที่มีกว่า 25,000 คนทั่วประเทศ ให้บริการในรูปแบบ Postman as a Service เช่น Survey บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์ Express บริการ รับ-ส่ง สิ่งของ แบบ Point to Point ตามความต้องการของลูกค้า/พันธมิตร Matching บริการเชื่อโยง Demand และ Supply 

บริการส่งจดหมาย เราเป็นเจ้าเดียวที่สามารถส่งได้ตามกฎหมาย แต่เราจะไม่นิ่งนอนใจว่าจดหมายไม่สำคัญ เพราะทุกวันนี้เอกสารสำคัญทางการเงินล้วนส่งมาทางจดหมาย คนส่งไม่สนใจ เพราะต้องการลดต้นทุน จึงส่งแบบธรรมดา SLA ไม่มีเหมือน EMS  ถึงไม่ถึง ก็ช่าง แต่ต่อไปเราจะมีบริการให้คนรับที่ต้องการเร่งการส่งจดหมาย ติดตามการส่งจดมาย สามารถกดจากระบบเพื่อติดตามหรือสั่งให้ส่งเร็วขึ้นได้ ด้วยการเสียเงินเพียงเล็กน้อย

ดนันท์ เล่าต่ออีกว่า อีกหนึ่งบริการสำคัญ คือ D/ID (ดีไอดี) ซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคล ในรูปแบบการจ่าหน้าแบบใช้รหัส ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูง และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ  

นอกจากธุรกิจใหม่ที่ไปรษณีย์พร้อมเดินหน้าแล้ว กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลัก ไปรษณีย์ไทยก็ยังเน้นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและมองหาลูกค้าใหม่ รวมทั้งการเข้าไปเป็นผู้ขนส่งให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น แพลตฟอร์ม Tiktok Shopee และ Lazada โดยบริการที่มีการเติบโตโดดเด่นสุดคือ บริการส่งด่วน EMS ในประเทศ ที่มีปริมาณสิ่งของฝากส่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 12.92% 

ESG+E ความยั่งยืนส่งผลต่อรายได้องค์กร

ไปรษณีย์ไทย ดำเนินธุกิจตามหลัก ESG+E คือ Environment, Social, Governance และ Economy ผ่านแผนงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย

ไตรมาส 4 ของปีนี้จะมีการนำยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถEV มาใช้ในระบบงานไปรษณีย์เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 85% ภายในปี 2573 ครบทั้งหมด 100% ภายในปี 2583 และยังอยู่ระหว่างยังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้กับระบบขนส่งเพิ่มเติม 

ด้านสังคม สร้างชุมชนที่ยั่งยืนด้วยโครงการ “ไปรษณีย์เชื่อมสุข” ที่มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ และเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังชุมชนที่สำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า ให้กลุ่มเกษตร กลุ่ม SME และกลุ่มเปราะบางทางสังคมผ่านแพลตฟอร์ม ThailandPostMart โดยที่ผ่านมาช่วยสร้างรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์มากกว่า 600 ล้านบาท/ปี 

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ไปรษณีย์ไทยได้สนับสนุนเกษตรกรไทย ในการขนส่งผลไม้และพืชผลทางการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 100,000 ตัน ครึ่งปีแรกของปี 2567 นี้มีปริมาณการฝากส่งผลไม้ไทยยอดนิยมผ่านบริการ EMS ส่งด่วนทั่วไทย กว่า 18 ล้านกิโลกรัม 

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย

ด้านการกำกับดูแลกิจการ ให้ความสำคัญกับการรักษา ปกป้อง และใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน พร้อมมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร และพัฒนาธุรกิจเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การทำ ESG ย่อมส่งผลกลับมาที่ Economy เสมอ เพราะทำให้ไปรษณีย์ไทยลดต้นทุน เช่น การนำรถ EV มาใช้ ทำให้สามารถลดค่าเชื้อเพลิง การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้จากสินค้าชุมชน เป็นต้น 

เปิดรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์ ปี 2564-2566

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

-ปี 2564 รายได้รวม 21,226.73 ล้านบาท

ขาดทุน 1,730.34 ล้านบาท

-ปี 2565 รายได้รวม 19,546.49 ล้านบาท

ขาดทุน 3,018.40 ล้านบาท

-ปี 2566 รายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท

กำไร 78.54 ล้านบาท

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

-ปี 2564 รายได้รวม 18,972.08 ล้านบาท

กำไร 46.92 ล้านบาท

-ปี 2565 รายได้รวม 17,145 ล้านบาท

ขาดทุน 2,829.84 ล้านบาท

-ปี 2566 รายได้รวม 11,541.48 ล้านบาท

ขาดทุน 3,880.64 ล้านบาท

บริษัท เอสพีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด

-ปี 2564 รายได้รวม 15,010.90 ล้านบาท

ขาดทุน 289.93 ล้านบาท

-ปี 2565 รายได้รวม 16,765.15 ล้านบาท

กำไร 932.73 ล้านบาท

-ปี 2566 รายได้รวม 16,607.59 ล้านบาท

กำไร 34.80 ล้านบาท

บริษัท ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด

-ปี 2564 รายได้รวม 9,638.36 ล้านบาท

ขาดทุน 286.01 ล้านบาท

-ปี 2565 รายได้รวม 16,060.16 ล้านบาท

กำไร 2,700.23 ล้านบาท

-ปี 2566 รายได้รวม 16,738.83 ล้านบาท

กำไร 2,909.01 ล้านบาท

บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด

-ปี 2564 รายได้รวม 17,607146 ล้านบาท

กำไร 5.66 ล้านบาท

-ปี 2565 รายได้รวม 14,805.33 ล้านบาท

ขาดทุน 2,186.25 ล้านบาท

-ปี 2566 รายได้รวม 20,093.40 ล้านบาท

ขาดทุน 559.49 ล้านบาท

บริษัท โกลบอล เจท เอ็กซ์เพรส (ไทยแลนด์) จำกัด

-ปี 2564 รายได้รวม 7,306.57 ล้านบาท

ขาดทุน 821.80 ล้านบาท

-ปี 2565 รายได้รวม 11,833.52 ล้านบาท

กำไร 1,517.31 ล้านบาท

-ปี 2566 รายได้รวม 18,511.63 ล้านบาท

ขาดทุน 7,093.54 ล้านบาท

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.