“แพทองธาร” หารือ “เอกชน 3 สถาบัน” ร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรุ่งนี้ (23 ส.ค.2567) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะเข้าหารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันที่ อาคารชินวัตร โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. จะเป็นการหารือกับประธานหอการค้าไทย พร้อมคณะกรรมการฯ  

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ขอเข้าพบ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมนำเสนอแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดย ส.อ.ท. พร้อมคณะกรรมการบริหาร จะเริ่มหารือในเวลา 11.00 น.

ทั้งนี้ ส.อ.ท. อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเร่งด่วน ซึ่งได้เน้นย้ำมาตลอดและไม่เปลี่ยนจากเดิม ได้แก่ 

1. นโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยหลักๆ มาจากต้นทุนที่สูงขึ้นในทุกอย่าง ทั้งวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ค่าไฟและน้ำมัน รวมถึงค่าแรงที่กำลังจะปรับขึ้น 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ต.ค.2567 สิ่งเหล่านี้ ก็หวังว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้ต้นทุนเหล่านี้ต่ำลงและสามารถแข่งขันได้ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบที่ยังคงสูงมาก

2. เงินทุน ปัจจุบันเอสเอ็มอีกำลังขาดออกซิเจน คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หลายธนาคารได้ประกาศลดเป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อ และมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเม็ดเงินที่จะปล่อยได้ถูกจำกัดและลดลงไปอีก ดังนั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่มหาศาล รัฐบาลต้องหาเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเติมเงินเข้าไปให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงิน ที่นอกจากธนาคารพาณิชย์แล้วจะต้องมีกลไกอื่นมาเติมให้สู้ต่อไปได้

3. สินค้าราคาถูกต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด ขณะนี้ที่ทราบว่าสินค้าราคาถูกได้ทะลักมาทุกทิศทุกทาง จนท่วมตลาดทั้งในไทยและภูมิภาค ส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยแข่งขันไม่ได้ จนต้องปิดกิจการมากมาย โดยช่วง 6 เดือน (ม.ค.-พ.ค.2567) ปิดกิจการกว่า 667 แห่ง เป็นขนาดมูลค่ากิจการที่ 20 ล้านบาท เป็นกิจการของคนไทยเกือบ 100% ในขณะที่โรงงานที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ขอการสนับสนุนจาก BOI และส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมดที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 140 ล้านบาท

ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะป้องกัน ต้องดีพอและกวดขันตั้งแต่การนำเข้า มีการตรวจสอบ 100% ทำตามกฎเกณฑ์ที่อยู่ในขอบเขตและต้องทำอย่างเต็มที่ จะต้องระมัดระวังไม่ใช่ไปจ้องทะเลาะ ทำตามมาตฐานสากลทั่วโลกที่มีเกณฑ์อยู่แล้ว เหมือนเวลาที่ประเทศไทยส่งสินค้าจากไทยไปจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นที่เข้าตรวจในตู้คอนเทนเนอร์ของทางเข้าที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งไทยตรวจต่ำกว่ามาตรฐานมาก

“การสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ได้เร่งดำเนินการก่อนจะถูกตัดสินให้พ้นเก้าอี้นายกฯ โดยเรียกกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่กำกับดูแล ให้เร่งแก้ปัญหา หวังว่ารัฐบาลจะทำต่อและต้องรีบเร่งกว่าเดิม” นายเกรียงไกร กล่าว 

สำหรับการแก้ปัญหาระยะกลาง และระยะดยาว มีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ อาทิ การศึกษา ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม แก้กฎหมายเพื่อให้ทำงานง่ายขึ้น และการสร้างบุคลากร ที่ต้องเดินต่อ เพราะที่ผ่านมาช้าเกินไป 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.