16 ปีแห่งความหลัง! SCC ร่วงต่ำ มาร์เก็ตแคปเหลือ 2.3 แสนล้าน
เห็นจะจริงกับคำพูดที่ว่า "ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้า" เพราะใครจะเชื่อว่าบริษัทระดับบิ๊กคอร์ปของประเทศไทย ที่ใครๆต่างก็ต้องมีติดไว้ในพอร์ต ด้วยราคาที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญยังจ่ายเงินปันผลดีต่อเนื่อง อย่าง "บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC" หนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ในวันนี้ราคาหุ้นกลับร่วงแล้วร่วงอีก จนหลุดทำโลว์ต่ำกว่า 200 บาทในรอบ 16 ปี
16 ปีแห่งความหลัง!!
ความยิ่งใหญ่ของ "SCC" แทบจะไม่ต้องขยายความมาก ด้วยความจริงเป็นที่ประจักษ์ว่า "SCC" บริษัทที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ของไทย ก่อตั้งธุรกิจมา 111 ปี นับตั้งแต่ตั้งบริษัทในวันที่ 8 ธันวาคม 2456 จากนั้นนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 25 เม.ย. 2518 ด้วยราคาเสนอขาย 133 บาทต่อหุ้น พาร์ 100 บาท ต่อมาได้มีการแตกพาร์ต่อเนื่อง จวบจนวันที่ 24 เม.ย.2546 จากพาร์ 10 บาท เหลือ 1 บาทถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลา 49 ปีที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย กราฟราคา SCC แบบรายปี ราคาหุ้นขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 554 บาทในพ.ศ. 2558 ด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ที่ 6.64 แสนล้านบาท
แต่..ราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 9 ส.ค.2567 ร่วงลงมาปิดที่ 196.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 373.83 ล้านบาท Market Cap เหลือเพียง 235,800 ล้านบาท ราคาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน(Year to Date : YTD) ปรับลดลง -35.78%
และไม่ใช่ร่วงแค่แม่ SCC เท่านั้น แต่จับมือกันร่วงแบบยกแผง ตั้งแต่ต้นปีจนวันนี้ติดลบมากกว่า 30% โดยเฉพาะ "SCGP" หุ้นทรงดีที่ราคาขยับขึ้นต่อเนื่อง จากราคาเสนอขายไอพีโอ 35 บาท ขึ้นไปพีคสุดที่ 71.50 บาทในปีพ.ศ. 2564 แต่แล้วก็หลุดต่ำจองจนได้ หนำซ้ำยังทำจุดต่ำสุดตั้งแต่เข้าตลาด ในวันที่ 22 ต.ค.2563
ซึ่งตรงกันข้ามกับ "SCGD" ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาเสนอขายไอพีโอ 11.50 บาท ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเทรดในวันที่ 20 ธ.ค.2566 จนป่านนี้ยังไม่สามารถโผล่พ้นน้ำ ขึ้นมาเหนือจองได้!!
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ??
หากพิจารณาจากผลการดำเนินงานของ "SCC" ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ย่อมทราบคำตอบกันดีว่า ธุรกิจหลักทั้ง ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง , ธุรกิจเคมิคอลส์ และ ธุรกิจแพคเกจจิ้งนั้น ต่างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังทรงตัวระดับสูงกดดันอุปสงค์
โดยเฉพาะ "ธุรกิจปิโตรเคมี" อยู่ในวัฏจักรขาลงมาอย่างยาวนาน อีกทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กระทุ้งต้นทุน Naphtha ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความล่าช้าในการใช้ปีงบประมาณแผ่นดินกระทบความต้องการใช้ "ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง" ไม่เป็นไปตามคาด ที่สำคัญด้วยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากระทบความต้องการใช้ใน "ธุรกิจแพคเกจจิ้ง" เช่นเดียวกัน
อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญก่อนหน้านี้ ทั้ง เหตุการณ์ "รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งปรับ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด (SCG Plastics) บริษัทย่อยของ SCC ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านจากการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐชำระค่าสินค้าที่ผลิตในอิหร่าน ช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2561" ซึ่งทาง SCG Plastics ต้องจ่ายเงินค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมาเกิด "เหตุการณ์เพลิงไหม้ถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+" ของ "บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (MTT)" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ SCC ถือเป็นอีกหนึ่งมรสุมที่เข้ามาเพิ่มความกังวลต่อสถานการณ์ SCC ที่ต้องเผชิญปัญหาไม่หยุดหย่อนให้ทวีความหวั่นวิตกยิ่งขึ้น และยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง
แม้ที่ผ่านมา SCC จะมีการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มความคล่องตัวในธุรกิจ ลดการบริหารงานแบบรวมจุดเดียว แต่การขยับที่อาจเชื่องช้ากว่าที่ควรจะเป็นสะท้อนผลลัพท์ภาพธุรกิจที่รอวันพลิกฟื้นเท่านั้น
อนาคตเติบโตแค่ไหน ?
แน่อนว่า หากธุรกิจหลักของ SCC กลับมาแกร่งเหมือนในอดีต นั่นคือความหวังที่ผลประกอบการจะฟื้นกลับมาได้ แต่ด้วยแนวโน้มตลาดเคมีภัณฑ์อาจไม่ได้ฟื้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยการเติบโตของอุปสงค์ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แสงสว่างปลายอุโมงค์จึงอาจจะยังน้อยนิด
นอกจากนี้ โครงการปิโตรเคมี ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP) ในเวียดนาม ยังเลื่อนการเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ (COD) จากเดิมที่คาดจะเดินเครื่องในไตรมาส 2/2567 เลื่อนเป็นทดสอบช่วงเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน และ COD ในเดือน ตุลาคม 2567 แน่นอนว่าสร้างความกังวลในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะการแบกต้นทุนคงที่ต่อเนื่อง ซึ่งตลาดคาดว่าจะแบกรับต้นทุนราว 800-1,000 ล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว จากที่บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปแล้วในไตรมาส 2/2567 ถึง 2,200 ล้านบาท และสิ่งที่ต้องตามต่อ ก็คือ โครงการดังกล่าวจะเลื่อนไปอีกหรือไม่ เพราะหากเลื่อนไปเกินกว่าไตรมาส 1/2568 ย่อมกระทบผลประกอบการปีหน้าได้
ถามว่า.. วันที่ราคาหุ้นร่วง ใช่จังหวะ "ซื้อ" หรือไม่ ?
ก่อนที่จะตัดสินใจ "ซื้อ" หุ้นตัวไหนก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะ "หุ้น SCC"นอกจากพิจารณาความแข็งแกร่งของธุรกิจที่ต้องเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆแล้ว ยังต้องดูความสามารถในการทำกำไรในอนาคต รวมถึง ราคาหุ้นที่ต้องถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง พร้อมกับมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ประเมินอนาคตในเบื้องต้นแล้วนั้น
อีกสิ่งสำคัญ ต้องดู Risk Reward Ratio (RRR) นั่นก็คือ สัดส่วนที่เปรียบเทียบระหว่าง "ความเสี่ยง" เป็นจำนวนเงินที่ต้องสูญเสีย เทียบกับผลตอบแทนเป็น "จำนวนเงินที่จะได้รับ" ว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยงเข้าไปลงทุนในแต่ละครั้งหรือไม่
สิ่งที่อยากฝากไว้ให้คิดสักนิดกับคำกล่าวที่ว่า . . .
จง "กล้า" ในช่วงที่คนอื่น "กลัว" และ จง "กลัว" ในช่วงที่คนอื่น "กล้า" แล้วตอนนี้ "คุณ กล้า หรือ กลัว ?"
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.