ทำไม ? "การบินไทย" กำไรไตรมาส 2/67 วูบหนัก 86.5%

     "การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า" สโลแกนที่ติดตราตรึงใจคนไทยมานานแสนนาน จากสายการบินแห่งชาติที่บินสูงเหนือใคร กลับประสบปัญหาขาดทุนหนักต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านมาได้ 3 ปีแล้ว คงได้แต่เอาใจช่วยให้ "THAI" กลับมาเฉิดฉายในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง...ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่!!

     วันนี้(9 ส.ค.67) "บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI" แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/67 บริษัทและบริษัทย่อย มีกําไรสุทธิ 314 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,959 ล้านบาท แบ่งเป็นกําไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ จำนวน 306.13 ล้านบาท ลดลง 86.5% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 2,261.90 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนปี 67 มีกำไร 2,715.68 ล้านบาท ลดลง 81.6 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรถึง 14,775.85 ล้านบาท

     เกิดอะไรขึ้น ?

     แน่นอนว่า สาเหตุหลักคือ THAI มีค่าใช้จ่ายรวม(ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว)เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 9,251 ล้านบาท คิดเป็น 32.1% ตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่ง จํานวนเที่ยวบิน จุดบิน และ ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้น ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลให้ "ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศสูงขึ้น"

     นั่นจึงเป็นเหตุให้ THAI และบริษัทย่อย มีกําไรจากการดําเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 5,925 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 2,651 ล้านบาท หรือ 30.9% ส่วนต้นทุนทางการเงิน(ซึ่งเป็นการรับรู้ต้นทุนทางการเงินตาม มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 : TFRS 9) จํานวน 4,796 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 829 ล้านบาท ราว 20.9%

     "รายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท เกิดจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ แม้จะมีกําไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนแบ่ง กําไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และกําไรจากการขายสินทรัพย์"

     รายได้ไตรมาส 2/67 พุ่ง!

     ด้านรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ในไตรมาส 2/67 บริษัทและบริษัทย่อยทำได้ 43,981 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% รับรู้รายได้จากกิจการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 5,323 ล้านบาท ราว 15.2% จากจํานวนเที่ยวบินและเส้นทางบินที่ให้บริการเพิ่มขึ้น โดยวันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ทําการบิน ทั้งสิ้น 77 ลํา ในไตรมาส 2/67 มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเฉลี่ย 13.1 ชั่วโมง ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 21.1% และปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 79.2% ในงวดเดียวกันของปีก่อน เป็น 73.2%

     อีกทั้งมีรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) อยู่ที่ 3.07 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 3.4% และจํานวนผู้โดยสารที่ทําการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 13.7%

     "ไตรมาส 2 เป็นช่วงที่ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารต่ำที่สุดของปี ขณะที่ในปี 66 อุตสาหกรรมการบินยังอยู่ในระยะฟื้นตัวจากปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารคงค้าง การเปิดประเทศของจีน และการผ่อนคลายและยกเลิกข้อจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor)ในไตรมาส 2 ของปีก่อนอยู่ในระดับสูงกว่าภาวะปกติ"

     ส่วนการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) เพิ่มขึ้น 23.5% และปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) เพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.5% ใกล้เคียงกับงวดเดียวกัน ของปีก่อน ด้านปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 4,963 ล้านบาท คิดเป็น 15.9% และมีรายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท คิดเป็น 9.4% นอกจากนี้บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากกิจการอื่นเพิ่มขึ้น 724 ล้านบาท คิดเป็น 37.3% และมีรายได้อื่นๆเพิ่มขึ้น 553 ล้านบาท คิดเป็น 115%

     แผนฟื้นฟูยังดำเนินต่อ

     THAI ยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง ทั้ง "การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและขยายเส้นทางบิน" โดยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 จำนวน 3 ลำ แบบโบอิ้ง 787-9 จำนวน 1 ลำ รองรับการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเมืองสำคัญ เช่น ซิดนีย์ ไทเป โตเกียว(นาริตะ) คุนหมิง เฉิงตู และภูเก็ต เป็นต้น การกลับไปให้บริการในเส้นทางเพิร์ท โคลัมโบ มิลาน และออสโล โดย มิลาน และออสโลเริ่มทำการบินวันที่ 1กรกฎาคม 2567 นอกจากนี้ยังเปิดเส้นทางบินใหม่ไปเมืองโกชิ และเพิ่มเที่ยวบินช่วงเทศกาลพิเศษ เช่น เพิ่มความถี่เที่ยวบินในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์และให้บริการเที่ยวบินพิเศษขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ไปยังราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

     รวมถึง "การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ" โดย จำหน่ายเครื่องบินแบบแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ และแบบโบอิ้ง 777-200 จำนวน 1 ลำ เครื่องยนตอ์ะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งาน จำนวน 2 เครื่องยนต์ และทรัพย์สินอื่นๆ

     อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจํานวน 270,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จํานวน 31,535 ล้านบาท คิดเป็น 13.2% หนี้สินรวม จํานวน 310,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จํานวน 28,823 ล้านบาท คิดเป็น 10.2% ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อย ติดลบจํานวน 40,430 ล้านบาท ติดลบลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จํานวน 2,712 ล้านบาท

     เที่ยวบิน-ผู้โดยสารพุ่งหนุนผลงานครึ่งปีแรก

     ผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจำนวน 17,001 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,608 ล้านบาท คิดเป็น 21.3% รายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,047 ล้านบาท คิดเป็น 14% ผลจากรายได้กิจการขนส่ง เพิ่มขึ้น 8,261 ล้านบาท คิดเป็น 11.1% โดยมีรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกิน เพิ่มขึ้น 12.9% จากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) สูงกว่าปีก่อน ขณะที่รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ ลดลง 2.9% จากรายได้พัสดุภัณฑ์เฉลี่ยต่อหน่วยที่ลดลง 21.9% แม้ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) จะสูงขึ้น 24.6%ก็ตาม นอกจากนี้มีรายได้จากกิจการอื่นเพิ่มขึ้น 35% เกิดจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของสายการบินลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

     ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 72,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,655 ล้านบาท คิดเป็น 27.3% เกิดจาก ค่าน้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 4,372 ล้านบาท คิดเป็น 19.6% จากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำมันสูงกว่าปีก่อน ราคาน้ำมันเฉลี่ยสูงกว่าปีก่อน 1.1% และเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ค่าน้ำมันเมื่อคำนวณเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนที่แปรผันตามปริมาณการผลิต/การขนส่งเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายคงที่เพิ่มขึ้น 26.2% จากค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานที่เพิ่มขึ้น 18.5% และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น 55.1% 

     ทั้งนี้บริษัทและบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ถึงแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมกำไรจากการขายสินทรัพย์และกลับรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตาม TFRS 9 โดยในงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,847 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,057 ล้านบาท คิดเป็น 81.5% โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,716 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.24 บาท ต่ำกว่าปีก่อน 5.53 บาทต่อหุ้น

     EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวน 18,402 ล้านบาท ลดลง 4,959 ล้านบาท

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.