เศรษฐา หวัง ฝรั่งเศส ช่วยสนับสนุนลงนามFTA ไทย-อียู เชื่อ ช่วยเพิ่มการส่งออก
วันที่16 พฤษภาคม เวลา 10.50 น.(เวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุม L'Apostrophe กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในงาน Thailand - France Business Forum โดยภายหลังเสร็จสิ้น นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของปาฐกถา ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่น ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกรัฐมนตรีเยือนอย่างเป็นทางการ และในครั้งนี้ถือเป็นการเยือนครั้งที่ 2 ในช่วงเวลา 3 เดือน สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้บริหารองค์กร Comité Colbert เยือนไทยเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและงานฝีมือของไทย ไทยต้องการเรียนรู้ความเชี่ยวชาญและร่วมมือกับฝรั่งเศสในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย และวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทยร่วมการเยือนในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมาครง เพื่อต้องการสร้างเวทีให้ภาคเอกชนชั้นนำได้พบปะ เชื่อมโยง และร่วมงานกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า งาน Thailand - France Business Forum จะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 3 ของฝรั่งเศสในอาเซียน เชื่อมั่นว่าในการนำของรัฐบาลไทยจะเป็นพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ในส่วนของความร่วมมือระดับประชาชน มีคนไทยราว 3 หมื่นคน อาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศส และมีชาวฝรั่งเศสราว 4 หมื่นคน อาศัยในประเทศไทย และไทยถือว่าเป็นประเทศลำดับ 2 ในเอเชียที่มี expats โดยส่วนของการท่องเที่ยว ปี 2566 ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปไทยราว 2 แสน 7 หมื่นคน และมีนักท่องเที่ยวไทยไปฝรั่งเศสเกือบ 2 แสนคน
รัฐบาลไทยเพิ่งเปิดตัววิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” เพื่อยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลกใน 8 ภาคส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหารและเกษตรกรรม การบิน การขนส่ง การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน ซึ่งวิสัยทัศน์นี้นำเสนอศักยภาพมากมายสำหรับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การขนส่ง (Logistics) รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคอื่น ๆ โดยมี Mega Project อย่างโครงการ Landbridge เชื่อมโยงเส้นทางการค้าและการขนส่งจากมหาสมุทรแปซิฟิก เข้ากับมหาสมุทรอินเดีย และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเพิ่มความเชื่อมโยงด้านคมนาคมทั้งทางบกและทะเลกับภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น
2. การบิน (Aviation) รัฐบาลต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน ทั้งผู้โดยสารและสินค้า ผ่านการเร่งดำเนินแผนการสร้างสนามบินใหม่และปรับปรุงสนามบินเดิม พร้อมวางแผนพัฒนาการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aviation Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินอย่างเต็มรูปแบบ โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้
3. ดิจิทัล ไทยมีอินเทอร์เน็ต 5G ที่ครอบคลุม และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ประกอบกับชาวไทยมีการใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจำนวนมาก รวมถึงการชำระเงินทางโทรศัพท์กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นรากบานที่แข็งแกร่งที่จะผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้สามารถทำให้ไทยกลายเป็นประตูสู่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกของฝรั่งเศส
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป เมื่อลงนามแล้วเสร็จ คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการส่งออกจากสหภาพยุโรปมายังไทยกว่าร้อยละ 40 และเพิ่มปริมาณการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปมากกว่าร้อยละ 25 โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุการเจรจา FTA ดังกล่าว
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก และเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ผ่านการมี Roadmap ที่สมบูรณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 50 ของการผลิต ภายในปี ค.ศ. 2040 และในวันนี้ ภาคเอกชนด้านเกษตรและอาหารของไทยจะลงนาม MoU ด้าน sustainable mobility ร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส โดยไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ไทยยังพิจารณาใช้ Green Hdrogen และ Small Module Reactor (SMR) เป็นเครื่องมือทำให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานสะอาดของฝรั่งเศส Electricite de France (EDF) เมื่อการเยือนอย่างเป็นทางการด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำสองประเด็นสำคัญ คือ 1. เชื่อมั่นว่าการติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จะทำให้เกิดความเข้าใจ วางใจ และมั่นใจต่อกันมากขึ้น จึงเชิญชวนให้ฝ่ายฝรั่งเศสเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า และหวังอย่างยิ่งว่า ไทยจะได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย 2. ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจน มีแรงจูงใจที่ดี และมีความมุ่งมั่น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสให้เจริญรุ่งเรือง และหวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมทุกคน
นายฟรองซัวส์ กอร์แบง (François Corbin) ประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย และรองประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ MEDEF International (MEDEFi) ได้กล่าวว่าเชื่อมั่นว่าในงานนี้จะเพิ่มตัวเลขทางการค้าและเพิ่มความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจระหว่างระหว่างไทยกับฝรั่งเศสมากขึ้น และ นาย Franck Riester รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการค้าต่างประเทศ ความน่าสนใจ ทางเศรษฐกิจ และคนชาติในต่างประเทศ ซึ่งได้ กล่าวว่าไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันหลายครั้งซึ่งเชื่อว่า ความร่วมมือ FTA ไทย - สหภาพยุโรป จะช่วยด้านการค้าการลงทุนมากขึ้น และความร่วมมือในด้านต่างๆ เหล่านี้จะปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ในปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่ลงทุนในฝรั่งเศสเป็นอันดับสองในอาเซียน ในขณะที่ฝรั่งเศสลงทุนในประเทศเป็นอันดับที่สามในสหภาพยุโรป
อนึ่ง งาน Thailand - France Business Forum เป็นผลสำเร็จจากการเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็นการจัดงานส่งเสริมการค้าระหว่างกันและสนับสนุนให้ภาคเอกชนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจร่วมกัน ได้แก่ สาขา 1) Energy 2) Circular industry 3) Mobility / Construction / Transportation 4) Food & Beverages 5) Hospitality และ 6) Sustainable Cities โดยงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งไทยและฝรั่งเศส ซึ่งเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.