จับตา สำนักงานกสทช.ชงวาระสรรหาเลขาฯ ประชุมบอร์ด 23 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียงได้แจ้งในที่ประชุมฯ ถึงข้อห่วงใย เนื่องจากได้รับการสอบถามจากทางวุฒิสภา ว่า “คณะกรรมการ กสทช. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ทางวุฒิสภาได้มีหนังสือ เรียน เลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2567  ที่ส่งรายงานพร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อเสนอคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?” เนื่องจากจนบัดนี้ พลอากาศโท ธนพันธุ์ ยังไม่ได้รับหนังสือรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด 

ขณะที่ทางสำนักงาน กสทช.ชี้แจงว่าได้ส่งให้สำนักบุคคลฯ เตรียมความพร้อมอยู่ พลอากาศโท ธนพันธุ์ เห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากทางวุฒิสภาต้องการเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณา โดยในรายงานดังกล่าว ได้มีข้อสังเกตถึงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกันในฐานะที่ กสทช. เป็นองค์กรกลุ่ม ที่ต้องตัดสินใจหรือพิจารณาร่วมกันในลักษณะของ “มติคณะกรรมการ” รวมทั้งมีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับ กรณีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. จึงได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ กสทช.พิจารณาดำเนินการ 2 ข้อ ดังนี้

1. กสทช. ในฐานะเป็นองค์กรกลุ่ม ซึ่งมีความรับผิดชอบร่วมกัน ควรเร่งรัดดำเนินการ คัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ให้แล้วเสร็จ โดยเร็ว

2. จำเป็นต้องมีการกำหนดระเบียบเพิ่มเติมให้รักษาการเลขาธิการ กสทช. อยู่ภายใต้การตรวจสอบ ประเมินผล และกำกับการปฏิบัติหน้าที่โดยคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ได้มีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับกรณีการยินยอมให้รักษาการเลขาธิการเข้ารับการคัดเลือกเลขาธิการ แต่กระบวนการคัดเลือกไม่ประสบความสำเร็จ เท่ากับว่าคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วว่า รักษาการเลขาธิการดังกล่าว ไม่เหมาะสมจะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยปริยายด้วยแล้ว จึงควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ 

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง บุคคลนั้นยังมีอำนาจบริบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์กร เช่น การปฏิบัติงานหรือภารกิจใดๆ ของกรรมการที่มิได้ลงคะแนนเสียงให้ อาจไม่ได้รับการสนับสนุนหรือขัดขวางการปฏิบัติงาน เหล่านี้อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์กรและประเทศชาติอย่างคาดไม่ถึง ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับองค์กร กสทช.

พลอากาศโท ธนพันธุ์ จึงขอเสนอให้เป็นมติ กสทช. เพื่อเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอแนะทั้ง 2 ข้อ ที่ทางวุฒิสภาเสนอโดยด่วน โดยให้บรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุม กสทช. ในการประชุมครั้งหน้า วันที่ 23 พ.ค.2567 

อย่างไรก็ตาม ประธาน กสทช. ชี้แจงว่า “มติของคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมาย แล้วก็ไม่รู้ว่าผูกพันกับเรามากน้อยขนาดไหน ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องอีกประเด็นว่าการรับมาแล้วจะบรรจุในวาระเมื่อไร อย่างไร ตามสมควร ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องฟังครับ” 

ดังนั้น กสทช. ธนพันธุ์ฯ จึงขอให้บันทึกเหตุผลที่ประธาน กสทช. ที่ไม่ยอมเร่งรัดให้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวให้ กสทช. พิจารณา ไว้ในรายงานการประชุมฯ ครั้งนี้

เปิดที่มาการเร่งรัดสรรหาเลขาธิการกสทช.ของวุฒิสภา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา หรือ สว. ได้บรรจุวาระเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณา เรื่อง รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานกรรมาธิการ นำเสนอรายงานเข้าที่ประชุม

โดยที่ประชุม สว.ได้สรุปรายงานส่งให้ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.,ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ไปพิจารณา

โดยนายประพันธ์ คูณมี รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า นับแต่ 1 ก.ค.2563 ที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออก และตั้งรักษาการมาจนปัจจุบัน เกือบ 4 ปี แล้ว  ดังนั้น นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ทำหน้าที่รักษาการเกือบครบวาระแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ วุฒิสภาเห็นว่า จะเกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชน หลายโครงการเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งศึกษาพบสาเหตุความล่าช้า เพราะมีการตีความตามกฎหมายต่างกัน  

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าประธานออกประกาศ ของประธานเพื่อคัดเลือกเลขา กสทช.เอง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่เลขานุการของประธาน แต่เป็นเลขาองค์กร ต้องทำงานรับใช้องค์กร เมื่อประธานประกาศและคัดเลือกเองเฉพาะตัวประธานก็ใช้เวลา 1 ปี 9 เดือนกว่าจะมาเสนอกรรมการในที่ประชุม แต่ไม่ได้ให้ความเห็นชอบเพราะกรรมการไม่กล้ารับรอง จึงเกิดความล่าช้า

สำหรับรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าว ได้มีข้อเสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาดังกล่าวตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการคัดเลือก และภายหลังกระบวนการคัดเลือก รวมถึงจัดส่งรายงานฯไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาว่าการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ตามประกาศประธาน กสทช. ลงวันที่ 17 มี.ค.2566 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่

รวมถึงส่งรายงานฯไปให้ ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาหยิบยกเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งใช้เวลามาแล้ว 1 ปี 9 เดือน มาพิจารณาดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ประธาน กสทช. บอร์ดกสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช. มีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เป็นต้น

สำหรับเหตุผลที่ กมธ.โทรคมนาคมฯ วุฒิสภา พิจารณาคุณสมบัติประธาน กสทช. สืบเนื่องจากนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ได้มีหนังสือถึงประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 28 ก.ย. 2566  เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. โดยขอให้วุฒิสภาตรวจสอบว่านพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ มีลักษณะต้องห้าม ตามาตรา 7 (12) และ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน ตามมาตรา 8 และ มาตรา 18 

รวมทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่

แม้ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งยกฟ้องของ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่เนื่องจาก กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา เห็นว่ากระบวนการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. ล่าช้าเนื่องจากความเห็นแตกต่างของบอร์ดกสทช. โดย ที่ประชุมบอร์ดกสทช. วันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ประชุมบอร์ดวาระพิเศษเวลา 9.30 น.ได้มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบชื่อนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ตามที่นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ที่เสนอรายชื่อ

โดยได้เหตุผลว่า โดยบอร์ดเสียงข้างมาก  4 คนประกอบด้วย ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ , น.ส.พิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ไม่เห็นชอบกับกระบวนการสรรหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น เพราะยืนยันว่าการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของบอร์ดทุกคน

ขณะที่ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ออกมาให้ข่าวในช่วงเวลานั้นว่า  เรื่องนี้ไม่ได้หนักใจ เข้าใจว่า ต่างคนต่างทำงาน ตนเองอยู่ในตำแหน่งมาประมาณ 2 ปี และกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ก็ได้ดำเนินการครบถ้วน สมบูรณ์ แล้ว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.