เปิดสเปก "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯคนที่ 14" ต้องแบบนี้ ?
ผ่านมา 7 วันทำการหลังเปิดรับสมัคร "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14" ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้นที่จะสิ้นสุดการรับสมัครในวันที่ 30 เมษายน 2567 จากนั้นจะมีกระบวนการคัดสรรอีกครั้ง ซึ่งผู้จัดการคนใหม่จะมารับหน้าที่แทน "ภากร ปีตธวัชชัย" ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯคนปัจจุบันที่จะครบวาระช่วงกลางเดือนกันยายนนี้
ด้วยคุณสมบัติ "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ" ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความเข้าใจในตลาดทุน รวมถึงมีความมุ่งมั่นในการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ภายใต้สถานการณ์ที่มีความท้าทาย เพื่อตอบโจทย์ทั้งที่เป็นพันธกิจตามกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ และวิสัยทัศน์ขององค์กร “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ตลาดทุนเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนไทย
นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังจะต้องมีทักษะและคุณสมบัติ (Competencies & Personal Attributes) ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น มีทักษะในการสื่อสาร มีความสามารถในการบริหารจัดการและสานประโยชน์กับองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดทุน เป็นต้น รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับตลาดเงินและตลาดทุนเป็นอย่างดี เพื่อพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
นั่นคือคุณสมบัติตามกำหนดที่ตลาดต้องการ แต่ใช่คนที่ตรงใจคนในวงการลงทุนหรือไม่ ??
ผู้สื่อข่าว "โพสต์ทูเดย์" ได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับ "สเปกผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่" ของคนในแวดวงนักลงทุน และ นักวิเคราะห์ฝีปากกล้าว่าต้องการคนแบบไหนอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สะดวกแสดงความคิดเห็น เนื่องด้วยมองว่าคุณสมบัติต่างๆได้ประกาศชัดเจน อีกทั้งด้วยภาระหน้าที่ต่างๆจึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ
แต่.. ความพยายามอยู่ที่ไหน ผู้กล้าย่อมอยู่ที่นั่น!!!
"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า(Value Investing) เปิดใจกับ "โพสต์ทูเดย์" ถึง "สเปกผู้จัดการตลาด"ว่า คุณสมบัติแรกก็คือต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ประกาศรับสมัคร และต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การลงทุน เพราะบางครั้งหรือหลายครั้งไม่ได้มาจาก Background แบบนี้
ซึ่งผมคิดว่า จริงๆ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเป็นคนที่ดูทุกมุม เกี่ยวข้องกับคนทุกกลุ่ม ซึ่ง Stakeholder(ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย)ทุกกลุ่มควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นแบบดู Stakeholder ที่มี Power เป็นคนที่ถือหุ้น แต่ในส่วนของนักลงทุนไม่ค่อยได้อยู่ในการตัดสินของตลาดฯมากนักซึ่งตอนนี้ผมว่ามันจำเป็นเหมือนกัน
เพราะนักลงทุนไม่มีเสียง เวลาทำอะไร เวลาคิดอะไร เสียงมันไม่สะท้อนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่าไหร่ แต่จริงๆเขาคือ Stakeholder ที่สำคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะพัฒนาหรือจะคึกคักก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุน ซึ่งอาจต้องให้ความสำคัญนักลงทุนมากขึ้น ตรงนี้ต้อง Seriously เพราะนักลงทุนทุกคนเป็นตัวจ่ายสำคัญมากทีเดียว ไม่งั้นคุณจะมีตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าไม่มีคนมาลงทุน ทุกอย่างมาจากลูกค้าคือคนสำคัญ ไม่ใช่มาจากผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว หรือจากคนที่มีอำนาจในการควบคุมอะไรอย่างเดียว
"เรารู้สึกเหมือนกันว่าหลายๆครั้งนักลงทุนถูกทอดทิ้ง หรือว่าบางทีเรามีมุมมองอะไรบางอย่าง เขาก็ไม่ค่อยได้ฟัง หรืออาจจะฟังแต่อาจจะไม่ได้ตรวจสอบซีเรียสมาก อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งในเรื่องนโยบายต่างๆที่ออกมา หรือการควบคุมอะไรต่างๆต้องสะท้อนมุมมองของนักลงทุนเยอะขึ้น อย่างเช่นก่อนหน้านี้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯตัดการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 0.5%ออก ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนอยากได้ เราก็รู้สึกว่าตัดการเปิดเผยรายชื่อออกทำไมเพราะเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องการทราบ แต่ล่าสุดได้มีการกลับมาเปิดเผยรายชื่อเหมือนเดิมก็ถือเป็นเรื่องที่ดี"
หรือแม้กระทั่งอย่าง "กรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ" ก็ไม่มีชื่อของนักลงทุนร่วมด้วย มีเพียงชื่อที่มาจาก ก.ล.ต. และ บริษัทหลักทรัพย์ฯ แต่ไม่มีจากฝั่งนักลงทุน ถ้าอย่างที่ใจผมคิดคือ ต่อไปนี้หากจะทำอะไรต้องดู Stakeholder ให้ครบ และเหมาะสม ไม่ใช่ว่านี่เป็นเพียง Minor Stakeholder ไม่สำคัญไม่ต้องอะไร
"อย่างที่บอกว่าถ้าจะให้ตลาดหลักทรัพย์ฯดีขึ้น ตรงส่วนนี้ต้องปรับ คุณอย่าไปคิดว่าไม่ได้ นักลงทุนจะเป็นกรรมการได้อย่างไร หรือจะมองว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ มันเป็นอะไรที่ผมคิดว่านี่ควรปรับเปลี่ยน ถ้าจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับตลาดฯ ทาง ก.ล.ต.เป็นคนกำหนด ซึ่งคุณก็ต้องนำเสนอว่าควรจะมีกรรมการที่เป็นสายนักลงทุนด้วยใช่หรือไม่"
อย่างไรก็ดี "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ" ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยตลาดหุ้นไทยได้ แม้อาจไม่ใช่ปัจจัยผลักดันที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นโอเปอเรเตอร์ที่จะพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นหมายความว่าอะไรก็ตามที่จะทำขึ้นมาที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนก็ต้องดึงนักลงทุนเข้ามามีบทบาทโดยตรงเช่นกัน อยากฝากมุมมองนี้ให้กับผู้จัดการตลาดคนใหม่"
และนี่คือหนึ่งมุมมองของนักลงทุน VI ระดับตำนานที่นักลงทุนต่างยกให้เป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์"เมืองไทยที่ฝากถึงผู้จัดการตลาดฯคนใหม่ด้วยความหวังเห็นสิ่งที่ดีขึ้น
ไม่แน่ว่าเสียงนี้อาจจะดังจนสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญ และในอนาคตอาจเห็น "นักลงทุน"มีบทบาทร่วมพัฒนาตลาดหุ้นไทยให้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง...ก็เป็นได้!!!
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.