เงินบาทวันนี้35.80-36.05เปิดเช้าแข็งค่าขึ้นมากที่35.94บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 35.80-36.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.94 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.18 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.91-36.20 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผลการประชุม FOMC สะท้อนว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (ตามที่เราประเมินไว้) ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นกว่า +40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่ยังไม่สามารถทะลุโซนแนวต้านสำคัญ (Triple Tops) 36.20 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ก็อาจสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าก็อาจจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก เงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน

อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟดในการประชุมเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากทั้งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ตามบรรยากาศในตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ และผลการประชุม BOE ที่อาจทำให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้ หาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยในปีนี้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผลการประชุม FOMC ของเฟด ได้ย้ำภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing (ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย) อีกทั้งเฟดก็ยังมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในหุ้นเทคฯ ใหญ่ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.25% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.89% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟดที่จะมาหลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันบ้าง จากการขายทำกำไรบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม และหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ LVMH -1.6%, Total Energies -1.7%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.27% หลังผลการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด ยังคงสะท้อนว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ และมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาว (Longer run) ก็ไม่ได้แตกต่างจากคาดการณ์ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไปมากนัก อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ย่อตัวลงไปมาก เพราะบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รับรู้ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ในปีนี้

อย่างไรก็ดี มองว่า แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟดก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เพราะเฟดดำเนินนโยบายการเงินแบบ Data dependent ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญได้ ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็จะทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้

แต่คาดว่า แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดยังเป็นขาลง แม้อาจจะมีความเสี่ยงของธีม Higher for Longer บ้าง ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ จาก Risk-Reward ที่ยังมีความน่าสนใจของการถือบอนด์ระยะยาว ในจังหวะดอกเบี้ยขาลง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC ที่ย้ำว่า เฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ ตามเดิม นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.2-104.2 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นใกล้โซน 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
 
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ จะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักเหล่านี้ได้ 

นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราคาดว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ตามเดิม ทว่า มีโอกาสที่ BOE จะเริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งหาก BOE มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นต่อการลดดอกเบี้ย ก็อาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ให้ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยจะขึ้นกับการส่งสัญญาณว่า BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงเมื่อไหร่ ช้า หรือ เร็วกว่าเฟด

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.