สำรวจความต้องการทองคำของผู้บริโภคไทยโตแรง9.5%พุ่งด้านลงทุนและเก็งกำไร
YLG สรุปสถานการณ์ความต้องการทองคำล่าสุด จากการเปิดเผยรายงานภาพรวมตลาดทองคำในปี 2023 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) พบว่า ภาพรวมความต้องการทองคำ (Gold Demand) ทั่วโลก ซึ่งไม่รวมการซื้อขายนอกตลาด (OTC: Over-the-counter) ในปี 2023 อยู่ที่ระดับ 4,448.4 ตัน โดยปรับตัวลดลง 5.3% จากปี 2022 ที่ระดับ 4,699.0 ตัน แต่หากรวมการซื้อขายนอกตลาด (OTC) เข้าไปด้วย ความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2023 จะอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล ที่ระดับ 4,898.8 ตัน และนับเป็นการปรับตัวสูงขึ้น 3.1% จากปี 2022 ที่ระดับ 4,751.9 ตัน
สำหรับความต้องการทองคำที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ นอกจากได้ปัจจัยบวกมาจากธนาคารกลางสหรัฐที่ใกล้เข้าสู่วงจรอัตราดอกเบี้ยขาลงแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากผลต่อเนื่องจากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่กระแส “De-dollarization” หรือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือใช้ในการค้าระหว่างประเทศ
ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกหันมาลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ และเพิ่มสัดส่วนในการถือทองคำมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2022 และ 2023 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกได้เข้าซื้อทองคำที่ระดับ 1,081.9 ตัน และ 1,037.4 ตัน ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการซื้อปกติที่ราว 400-600 ตันต่อปี มาตลอดนับสิบปี
ทั้งนี้หากแบ่งเป็นความต้องการในส่วนทองคำแท่งและเหรียญทองคำ (Gold Bar and Coin) ทั่วโลก ปรากฏว่ามีความต้องการที่ลดลง 2.7% สู่ระดับ 1,189.5 ตันในปี 2023 จากระดับ 1,222.6 ตันในปี 2022 ขณะที่ความต้องการในเครื่องประดับ (Jewellery) ทั่วโลกนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% สู่ระดับ 2,092.6 ตันในปี 2023 จากระดับ 2,088.9 ตันในปี 2022
ขณะที่ในประเทศไทยมีความต้องการซื้อทองคำผู้บริโภค (Consumer gold demand) ในปี 2023 ซึ่งเติบโตในระดับสูงที่สุดในอาเซียน โดยปรับเพิ่มขึ้นถึง 9.5% สู่ระดับ 42.1 ตัน จากระดับ 38.4 ตันในปี 2022 โดยการเติบโตนี้เป็นผลมาจากความต้องการทองคำแท่งและเรียญทองคำ (Gold Bar and Coin) ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 13.3% สู่ระดับ 32.9 ตัน จากระดับ 29.0 ตันในปี 2022 ซึ่งช่วยชดเชยความต้องการในเครื่องประดับ (Jewellery) ที่ลดลง 2.2% สู่ระดับ 9.2 ตันในปี 2023 จากระดับ 9.4 ตันในปี 2022
อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เคยเข้าซื้อทองคำราว 90.20 ตัน ในปี 2021 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มปริมาณทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) มากที่สุดในบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก ขณะที่ในปี 2022 และ 2023 ธปท. ไม่ได้มีการเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นจากระดับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ในปี 2023 แรงซื้อทองคำของประเทศไทย จึงมาจากความต้องการซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก
อนึ่ง ความต้องการซื้อทองคำผู้บริโภค ประกอบด้วย ปริมาณการบริโภคเครื่องประดับ (Jewelry Consumption) และการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั้งหมดในประเทศ กระนั้น หากพิจารณาเฉพาะความต้องการทองคำในส่วนของเครื่องประดับ พบว่า แม้ในช่วงไตรมาส 4 ความต้องการเครื่องประดับทองคำในไทยปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 3.0 ตัน จากระดับ 2.5 ตัน ในไตรมาส 3
สำหรับแรงซื้อทองคำในประเทศไทยนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ของการลงทุนหรือการเก็งกำไร ซึ่งหากพิจารณาเพิ่มเติมในช่วงระหว่างปี 2013 – 2022 พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ปริมาณการบริโภคทองคำของไทยโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 63.0 ตัน นับว่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ขณะที่ในภูมิภาคเอเชีย ระดับการบริโภคดังกล่าวนับว่าอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงจีนและอินเดีย โดยการลงทุนในทองคำแท่ง ถูกคาดว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก
อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าการลงทุนในระยะหลังของไทย โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนในทองคำแท่งด้วยความต้องการถือ เพื่อเป็นสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน หรือด้วยวัตถุประสงค์ในการลงทุนระยะยาวอาจลดลง สะท้อนผ่านข้อมูลการส่งออก-นำเข้าทองคำในประเทศ ที่การนำเข้าทองคำกายภาพ (Physical Gold) ในปี 2023 อยู่ในระดับ 128.88 ตัน ปรับตัวลง 36.37% จากปีก่อนหน้า
ด้วยการนำเข้าทองคำที่ลดลงดังกล่าว คาดว่า มีส่วนมาจากการที่นักลงทุนหันมาเก็งกำไรผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อ้างอิงทองคำ หรือลงทุนใน Paper Gold ซึ่งมีความสะดวกมากกว่า และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนในทองคำแท่งแบบกายภาพ นอกจากนั้น นายเซาไก ฟาน ผู้อำนวยการส่วนวิจัยด้านภูมิภาคเอเชียและธนาคารกลางทั่วโลกของ WGC ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ด้วยความนิยมในการลงทุนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการซื้อขายทองคำในระยะสั้นมากขึ้น อันเป็นผลให้การลงทุนแบบถือในระยะยาวนั้นมีสัดส่วนลดลง
ในส่วนการซื้อทองคำของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น YLG มองว่าปี 1-2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) แต่ในระยะข้างหน้า ธปท. อาจมีการเพิ่มสัดส่วนทองคำฯ เพื่อรองรับความความไม่แน่นอนของประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก อันมีส่วนทำให้เกิดความผันผวนของสกุลเงินหลักที่เพิ่มมากขึ้น
กระนั้นในช่วงต้นปี 2023 ทางสภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นแนวโน้มสัดส่วนทองคำและเงินดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ จากธนาคารกลางราว 57 แห่งทั่วโลก ซึ่งผลการสำรวจได้บ่งชี้ว่า ความต้องการซื้อทองคำของเหล่าธนาคารกลางยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อไปอีกในอนาคต นับเป็นสัญญาณเชิงบวกของราคาทองคำ
เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อแนวโน้มสัดส่วนการถือครองทองคำในอนาคตของธนาคารกลางทั่วโลกนั้น พบว่า ราว 71% มีความเห็นว่าการถือครองสำรองทองคำในอีก 12 เดือนข้างหน้า จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราว 24% ให้ความเห็นว่า ธนาคารกลางของตนนั้นมีแผนเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำ สอดคล้องกับการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ที่เพิ่มขึ้นราว 26.59% เมื่อเทียบจากปี 2022
ขณะเดียวกัน ในแบบสอบถามได้มีการบรรจุคำถามที่สำคัญ นั่นคือ สัดส่วนการถือครองทองคำในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยผลการสำรวจระบุว่า 62% ของธนาคารกลาง ลงความเห็นว่า สัดส่วนการถือครองทองคำในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น จะปรับตัวขึ้นจากระดับเฉลี่ยที่ 15% ในปัจจุบัน ซึ่งราว 59% ให้ความเห็นว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 16-25% ขณะที่อีก 3% ให้ความเห็นว่า จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับเหนือ 25%
ปัจจุบัน แม้ธปท. ถือครองทองคำสำรอง 244.16 ตัน สูงสุดในบรรดาธนาคารกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เนื่องด้วยระดับทุนสำรองฯ ที่สูงราว 2.25 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้ทองคำคิดเป็นสัดส่วนเพียง 7.26% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสัดส่วนทองคำฯ ของธนาคารกลาง 57 แห่งทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชั้นนำของโลกที่เปราะบางต่อการเกิดวิกฤติ อันมีส่วนฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และความเป็นไปได้ต่อการปะทุขึ้นของการสู้รบระหว่างประเทศ รวมไปถึงความพยายามลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ หรือ De-dollarization ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเป็นปัจจัยชี้นำให้ธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทย เข้าถือครองทองคำในสัดส่วนต่อทุนสำรองฯ ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มเสถียรภาพด้านต่างประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศ อาจมีการตอบสนองต่อความเสี่ยงจากความความไม่แน่นอนของประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลกด้วยเช่นกัน ทำให้ความต้องการซื้อทองคำผู้บริโภค (Consumer gold demand) นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับคาดการณ์ราคาทองคำภายใน 5 ปี ข้างหน้า ที่อาจปรับตัวขึ้นแตะบริเวณ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการซื้อทองคำของไทยในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ คาดว่า ความต้องการซื้อทองคำผู้บริโภค จะมีอัตราการเร่งตัวขึ้นสูงกว่าทางธนาคารกลาง หรือธปท. แต่ทางธปท. อาจเป็นผู้เพิ่มปริมาณความต้องการซื้อทองคำของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หากมีการปรับเพิ่มสัดส่วนของการถือครองทองคำต่อทุนสำรองฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่หากพิจารณาเฉพาะความต้องการซื้อทองคำผู้บริโภค YLG ประเมินว่า แนวโน้มการซื้อทองคำในรูปแบบเครื่องประดับอาจปรับตัวลดลง แต่ภาพรวมความต้องการทองคำผู้บริโภค จะสูงขึ้นจากการถูกชดเชยด้วยความต้องการซื้อทองคำเพื่อการลงทุน อย่างไรก็ดี แนะนำนักลงทุนให้ติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจและการเงินโลก เพื่อไม่ให้พลาดแนวโน้มการลงทุนที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.