หุ้นไทยสัปดาห์หน้าไม่ถึง1,400เงินบาทสัปดาห์หน้า35.50-36.30บาท/ดอลลาร์

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน  
เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ก่อนที่จะกลับมาอ่อนค่าทะลุแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ช่วงสั้นๆ ของนักลงทุนก่อนการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐฯ 
เงินบาทฟื้นตัวกลับมาเคลื่อนไหวในฝั่งที่แข็งค่ากว่าแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้อีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากยังคงขาดปัจจัยใหม่ๆ มาหนุน และตลาดกลับมารอติดตามปัจจัยสำคัญในสัปดาห์ถัดไป อาทิ สุนทรพจน์ของประธานเฟด (6-7 มี.ค.) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (8 มี.ค.) 

ในวันศุกร์ที่ 1 มี.ค. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 ก.พ. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทย 6,725 ล้านบาท และชะลอสถานะ Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย โดยมียอดอยู่ที่ 650 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 1,300 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 650 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (4-8 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าที่ระดับ 35.50-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย และสุนทรพจน์ของประธานเฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการ ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนม.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค.-ก.พ.ของจีน รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายของต่างชาติ  

หุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 4/66 ออกมาน่าผิดหวัง และกลุ่มโรงไฟฟ้าจากความกังวลในประเด็นที่ภาครัฐอาจพยายามตรึงอัตราค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ การปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผลในวันที่ 29 ก.พ. 2567 และแรงขายทำกำไรหลังจบช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/66 ส่งผลให้หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงเทขายหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม สวนทางกับภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศที่ขยับขึ้นได้ในช่วงปลายสัปดาห์

ในวันศุกร์ที่ 1 มี.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,367.42 จุด ลดลง 2.20% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,557.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.55% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.01% มาปิดที่ระดับ 413.24 จุด

สัปดาห์ถัดไป (4-8 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้ามีแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซนและอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลการส่งออกเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.