'นายกฯเศรษฐา'ดันไทยฮับขนส่งสินค้าทางอากาศใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

เมื่อวันที่1มี.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศให้ได้มากกว่า 150 ล้านคนต่อปี และจะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าทางอากาศแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

คลิ๊กชมถ่ายทอดสด

ในโอกาสนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งเผยว่าขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภายใต้ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง  ได้น้อมรับวิสัยทัศน์ นโยบาย นำมาจัดทำเป็นแผนดำเนินงาน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงได้ระบุผู้รับผิดชอบงานในส่วนต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และได้เรียนเชิญท่านนายกฯ เศรษฐา ขึ้นกล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการจุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็น 1 ในด้านการบิน  

นายกฯ เศรษฐา  เผยว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2548 สนามบินสุวรรณภูมิเคยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก  แต่ในปัจจุบันนั้นตกอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก  ดังนั้นรัฐบาลจึงมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก  มีพรมแดนติดกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดบินเสรีการบินอาเซียน โดยการประกาศวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งกำกับดูแลท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ท่าอากาศยานดอนเมือง  ท่าอากาศยานเชียงใหม่  ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย  ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่  

สำหรับแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่นั้น รัฐบาลมีแผนจะขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573  ซึ่งขณะนี้ทาง AOT ได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในปี 2567 นี้ เตรียมจะเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 สามารถรองรับเที่ยวบินจาก 60 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 90 เที่ยวต่อชั่วโมง และมีแผนจะก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก ให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี  และยังมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงมีแผนจะก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รวมถึงจะเปลี่ยนเครื่อง x-Ray ที่จุดตรวจค้น ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องหยิบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกจากกระเป๋า หรือถอดรองเท้าขณะผ่านจุดตรวจค้น เพื่อร่นระยะเวลาในการตรวจเช็ค  

ในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาค  รัฐบาลมีแผนจะเปลี่ยนสนามบินให้เป็นสนามบินแบบ POINT-TO-POINT ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573  ผ่านการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม และจะขยายอาคาร 1 และ อาคาร 2 เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารได้ 27 ล้านคนต่อปี  และจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 23 ล้านคนต่อปี อีกทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นที่พื้นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ พัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว  พร้อมทั้งจะยกระดับการให้บริการทุกภาคส่วน เพิ่มพื้นที่จอดรถได้มากถึง 7,600 คัน และจะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เดินทางเข้าออกเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงจะพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชนอีกด้วย

สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ตนั้น รัฐบาลมีแผนจะสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2  หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนภูเก็ต พังงา กระบี่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง  และจะพัฒนาสะพานสารสิน เพื่อรองรับจำนวนรถให้ได้มากขึ้น และให้เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านได้เช่นกัน

นอกจากนี้สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ต รัฐบาลจะพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573  และกำลังอยู่ในช่วงศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่อากาศยานขึ้น-ลงในทะเล เพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นสูง  เชื่อมต่อไปยังเกาะสมุย เกาะช้าง และหัวหิน เป็นต้น  ส่วนท่าอากาศยานอันดามันที่มีแผนจะสร้างขึ้นนั้น จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน ตั้งเป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) ทั้งเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point

ถัดมาเป็นท่าอากาศยานเชียงใหม่ รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิมได้เพียง 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปีภายในปี 2572 รวมทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานล้านนา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี และจะเป็น Homebase ของสายการบิน อย่าง VietJet เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจะยกระดับสนามบินทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวของโลก ผ่านการผลิตอาหารให้กับสายการบินต่าง ๆ ส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพของไทย นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร ไปจนถึงต่อยอดเมนูอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสู่อาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังมีแผนจะขยายอุตสาหกรรมการบำรุงรักษาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษาทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว  มีระบบคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพื่อกระจายสู่ประชากรกว่า 280 ล้านคนทั้งไทย มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  พร้อมทั้งจะต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และจะร่วมกันพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทางตารางการบินให้เหมาะสม จำนวนและประเภทเครื่องบิน บัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ  ไปพร้อม ๆ กับสร้างความยั่งยืนผ่านการดึงดูดสายการบินด้วยเชื้อเพลิง SAF และส่งเสริมการผลิตในประเทศ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ไม่เพียงจะสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอนาคตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น และจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.