“จุลพันธ์” ชี้ รัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายฟังธง เศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด คือ พฤษภาคม 2567 และยังไม่มีกำหนดระยะเวลาเวลาใหม่ในการเดินหน้าชัดเจน เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงยังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดใหญ่) อย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือนอกรอบ เพื่อเตรียมความพร้อมรับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ทั้งนี้ก็เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ไม่ว่าข้อเสนอแนะของป.ป.ช.จะเป็นอย่างไร พร้อมทั้งมองว่า หลังจากรัฐบาลได้รับเอกสารจาก ป.ป.ช. แล้ว ก็ควรจะถึงจุดจบ หรือมีความชัดเจน ที่รัฐบาลจะต้องมาตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการในรูปแบบใด
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่ได้มีความกังวลใดๆ เพราะมองว่ารัฐบาลมีหน้าที่จะต้องตอบคำถาม และเตรียมการว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เชื่อว่า อีกไม่นานจะสามารถเดินหน้าโครงการได้
“ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกลับคณะกรรมการ Digital Wallet แบบไม่ได้เป็นทางการ โดยยังไม่ได้มีการปรับเงื่อนไข ไม่ว่าข้อเสนอแนะของ ปปช. จะออกมาในรูปแบบไหนก็ตามรัฐบาลก็จะดำเนินการโครงการต่อ โดยไม่มีความคิดว่าจะล้มเลิกโครงการ” นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วนเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการเปลี่ยนกรอบการกู้เงินจากการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นการออก พรก. กู้เงินหรือไม่นั้น ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว ถ้าถามในข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นกลไกการกู้เงินแบบใดก็ตามที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล เรายังมีเครื่องมือนั้นอยู่เสมอ แต่ ณ ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในส่วนนั้น
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่โครงการล่าช้าออกไปนั้น รัฐบาลมีกลไก หรือเครื่องมืออีกมากมายที่จะมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำแค่โครงการ Digital Wallet โดยโครงการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อพี่น้องประชาชนเท่านั้น โดยมาตรการที่รัฐบาลดูอยู่ มีทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนและกระตุ้นการบริโภค แต่ยังไม่สามารถชี้แจงในรายละเอียดได้ รวมทั้งได้มีการเร่งด้านงบประมาณ ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญ โดยจะพยายามให้จบในสภาก่อนเดือน เม.ย. 2567 รวมถึงอาจจะมีการเปิดให้มีการลงนามในสัญญา TOR ก่อนกรณีจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมหากงบประมาณเรียบร้อย โครงการจะได้เดินหน้าต่อเนื่องได้ทันที
ส่วนระยะเวลาของโครงการ Digital Wallet ที่ล่าช้าออกไปนั้น แน่นอนว่าผลของต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไปด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องปกติทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเมื่อโครงการล่าช้าออกไป ผลกับเศรษฐกิจก็ล่าช้าออกไป ดังนั้นความคาดหวังกับผลของโครงการที่จะได้ในปี 2567 ต่อระบบเศรษฐกิจก็อาจจะลดน้อยลง ถือเป็นเรื่องธรรมดา
สำหรับกรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัว 1.8% ไม่ใช่แค่จาก สศค. หน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่เป็นตัวเลขที่ทุกหน่วยงานมีการคุยกัน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะออกตัวเลขในเดือนหน้า แต่ก็เชื่อว่าตัวเลขจะไม่หนีไปกว่านี้ และคงไม่มีใครจะไปเปลี่ยนตัวเลขได้ เพราะตัวเลขนั้นเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง และชี้ชัดได้ว่า ณ ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา ส่วนปีหน้าที่ สศค. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% นั้น ทราบว่าเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รวมโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาล
" คำว่า “วิกฤต” นั้น ไม่มีใครเป็นคนกำหนดได้ หากถามว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ คงเป็นเรื่องปัจเจกษ์ของบุคคล หากถามคนนี้อาจจะบอกว่าใช่ แต่ถามอีกคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่ แต่มองว่าเรื่องนี้รัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการ ดังนั้น ณ ขณะนี้หากรัฐบาลมองว่า เศรษฐกิจวิกฤต และถูกกรอบกฎหมายทั้งหมด รัฐบาลก็จะเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแค่นั้นเอง งานอื่นก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เช่น ป.ป.ช. ในการติดตามตรวจสอบ"นาย จุลพันธ์ กล่าว
สำหรับ กรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงิน Digital Wallet นั้น รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็น เพราะถือว่าเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าตรงนี้จะเป็นตัวตัดสินว่ารัฐบาลควรจะเดินในทิศทางใด โดยในโพลที่ออกมาส่วนมากจะห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจว่าวิกฤตหรือไม่ แน่นอนว่าคนที่อยู่ระดับบนคงไม่รู้สึกเดือดร้อน แต่พี่น้องประชาชนระดับล่าง ณ นาทีนี้ก็เข้าขั้นแล้ว อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย
“เศรษฐกิจตอนนี้เหมือนถดถอยทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่เกิดจากภาวะที่ภาระหนี้ภาคครัวเรือนสูง ภาระหนี้ประชาชนสูง และภาระหนี้ของภาคเอกชนก็สูง ถามว่าใครคิดในเรื่องการลงทุนบ้าง มันไม่มีใครที่มีความพร้อมจะไปคิดเรื่องการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าเป็นประชาชนก็จะคิดแต่เรื่องการประทังชีวิต คิดในเรื่องการลดหนี้สิน ภาคเอกชนก็โฟกัสเรื่องการลดโครงสร้างหนี้ของตัวเอง ตรงนี้ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก จึงได้เห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาโดยตลอด” นายจุลพันธ์ กล่าว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.