ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน มี.ค.67 “ร้อนแรง” หวังเงินไหลเข้า-ท่องเที่ยวหนุน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนธันวาคม 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–31 ธันวาคม 2566) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2567) อยู่ที่ระดับ 137.00 ปรับขึ้น 38.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
โดยผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 29.4% อยู่ที่ระดับ 119.70 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 16.7% อยู่ที่ระดับ 100.00 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 17.9% อยู่ที่ระดับ 160.00 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 50.0% อยู่ที่ระดับ 150.00 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมา คือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และการไหลออกของเงินทุน
ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)
SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปัจจัยบวกหลายประการ อาทิ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ อีกทั้งแรงหนุนจากการเปิดขายกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายในเดือนธันวาคม 2566 ค่อนข้างบางเบาเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่วันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาส
โดยปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 39,980 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในเดือนธันวาคมประมาณ 70 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิรวมกว่า 192,083 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 SET Index ปิดที่ 1,415.85 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% จากเดือนก่อนหน้า
ทางด้านปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐ และ ยุโรป จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดเร็วกว่าคาด และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ทั้งสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด และผลการเลือกตั้งในไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่จะเป็นจุดชี้ชะตาสำคัญต่อความเป็นไปได้ในการเกิดการสงครามระหว่างไต้หวัน-จีน
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์จากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจากแนวโน้มการค้าโลกที่มีการขยายตัวสูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังนักลงทุนจีนเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.