จุลพันธ์ โยนนายกฯถกแบงก์ชาติ เบรกขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงกว่า 2.2 แสนล้านบาท ในส่วนของกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ทุกแห่งก็มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และ ในช่วงต้นปี 2567 ก็มีการปรับขึ้นเล็กน้อย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR แค่ 25 สตางค์เท่านั้น ก็พยายามตรึงกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องมาจากในภาพรวม และตลาดเป็นการแข่งขันสมบูรณ์ มันก็มีความจำเป็นที่ธนาคารต่าง ๆ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบการแข่งขันเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ต่างจากแบงก์รัฐด้วยความที่เป็นธนาคารเพื่อประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อความช่วยเหลือเป็นหลัก เราก็พยายามตรึงให้ได้ยาวนานที่สุด

 

“สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาเร็ว และแรงเกินไปนิดหนึ่ง กระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ตัวอย่างง่าย ๆ เลยอย่างตอนนี้อัตราเงินเฟ้อติดลบมา 2-3 เดือน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสถานการณ์ที่กระทรวงการคลังจับตาดูใกล้ชิด” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ถามว่าคาดหวังว่าจะให้ กนง.มีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ส่วนโอกาสในการหารือกับ ธปท. ในประเด็นนี้หรือไม่ เป็นภารกิจของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่จะมีการพูดคุย เท่าที่ทราบมีการพูดคุยกันเป็นระยะ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ขึ้นกับนายกฯ จะมีโอกาสพบผู้ว่าธปท.หรือไม่ อย่างไร 

 

รมช.คลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน คลังก็มีหน้าที่ทำในกรอบหน้าที่ภารกิจที่มีตามกฎหมาย แน่นอนว่าภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อติดลบส่อไปในทางที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวได้ แต่กลไกของรัฐก็มีหน้าที่ที่จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เพียงพอ เป็นกลไกที่เรามีหลาย ๆ ตัว ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ที่ต้องเร่งผลักดันให้ได้เร็วที่สุด กลไกในการใช้งบประมาณไปพลางก่อน ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะต้องดำเนินการ เพราะนี่เป็นเครื่องมือทางการคลังที่เราใช้ได้

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบจนเกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น ก็อยู่ในการจับตาดูของคลังเหมือนกัน ว่ามีความเสี่ยงในระดับนั้นหรือไม่ ณ ขณะนี้ยังไม่อาจชี้ชัดได้ ส่วนหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 2 เดือน ส่วนหนึ่งจากกลไกเรื่องการช่วยเหลือราคาพลังงาน แต่ถ้าดึงราคาพลังงานออกจากเงินเฟ้อเดือนล่าสุด ก็น่าจะลบ 1.5% ก็ยังติดลบอยู่ แต่ไม่ได้อยู่ในจุดที่เป็นความเสี่ยงขนาดนั้น
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถาม ธปท. กรณีผลกำไรธนาคารพาณิชย์ จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในประเด็นนี้ ธปท.ไม่ได้มีการชี้แจงใด ๆ เพิ่มเติม

 

สำหรับแนวทางการตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้ที่มีปัญหานั้น ยืนยันว่า หากจะดำเนินการก็สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจำเป็นต้องทำหรือไม่ หรือหากจะทำจะทำในช่วงเวลาใด ส่วนสถานการณ์หุ้นกู้ที่หลายภาคส่วนแสดงความกังวลใจนั้น ยืนยันว่า ปัจจุบัน กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

 

ส่วนกรณีที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ขอเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ 2 ปีนั้น มองว่า เป็นกลไกที่สามารถดำเนินการได้ และอยู่ในกรอบวิสัยที่ทำได้เช่นกัน และการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเลื่อนการชำระเท่านั้น ไม่ได้เป็นการผิดนัดชำระแต่อย่างใด


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.