เปิด 4 ผู้ท้าชิงเก้าอี้ CEO ปตท. จับตา "พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์"ตัวเต็ง

     หลังผ่านศึกเก้าอี้ "ประธานบอร์ด PTT" ที่ปรับเปลี่ยนจนคาดว่าน่าจะนิ่งและจบลงด้วยดีไม่มีเปลี่ยนแปลง มาต่อกันที่ศึกใหญ่ ชิงเก้าอี้ "ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT" ที่เปิดสมัครตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2566 ถึง 3 ม.ค.2567 ก่อนที่ "นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" CEO ปตท. คนที่ 10 ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในเดือน พ.ค.2567 หลังเข้ามารับตำแหน่งในเดือน พ.ค.2563

     ล่าสุดมี 4 รายชื่อเข้าท้าชิงตำแหน่ง "CEO ปตท. คนที่ 11" ดังรายนามต่อไปนี้ คือ

     1. ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

     2. นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC 

     3. หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

     4. นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

     โดยรายชื่อดังกล่าวข้างต้นนั้น ถือว่าแตกต่างจากการสำรวจรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติครบทั้งความรู้ความสามารถและอายุไม่เกิน 58 ปีก่อนหน้านี้ที่มีรายนาม 1.นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ 2.นายนพดล ปิ่นสุภา 3.นายคงกระพัน อินทรแจ้ง 4.นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต

เปิดชื่อเต็งหนึ่ง

     อย่างไรก็ดี แว่วกันว่าโผรายชื่อผู้ท้าชิงล่าสุด มีตัวเต็งในศึกครั้งนี้ นั่นก็คือ "นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์" ลูกชายคนรองของ "นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์" อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งรุ่นคุณพ่อมีสายสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

     นอกจากนี้ "นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์" ยังเป็นพี่ชายของ "นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" 

     นั่นหมายความว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ครั้งนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และด้วยพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นแกนนำในปัจจุบันจึงทำให้อำนาจเปลี่ยน และอาจสะท้อนถึงโอกาสการขึ้นมานั่งคุมบังเหียนของ"พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์" จึงค่อนข้างมีความหมายและสำคัญอย่างมาก

     ขณะที่อีกฝั่งทุนใหญ่นั่นก็คือ "นายคงกระพัน อินทรแจ้ง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งเป็นสายตรงเจ้าพ่อไฟฟ้าได้ลงท้าชิงตำแหน่งครั้งนี้เช่นเดียวกัน

     ศึกชิงเก้าอี้ CEO ปตท. คนที่ 11 ครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างสำคัญและต้องจับตากันไว้ให้ดี เพราะนั่นจะบ่งชี้ถึงเม็ดเงินมหาศาลที่ต้องมาลุ้นว่ามหาอำนาจฝั่งไหนจะได้ครอบครอง พร้อมผลักดันแผนการดำเนินงาน คุมอนาคตของ ปตท. 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.