ตั้งรัฐบาลชัดดันดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนส่วนเงินบาทแข็งค่า

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.84 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยสามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ แม้จะมีปัจจัยลบจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของไทยที่ชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความหวังว่าน่าจะมีการเดินหน้าของกระบวนการทางการเมืองไทยและเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากตัวเลขการส่งออกไทยเดือนก.ค. หดตัวมากกว่าที่คาด ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ  

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ หลังตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สะท้อนสัญญาณตึงตัวของตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงมีท่าทีหนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดในงานสัมมนาประจำปีของเฟดด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 35.37 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ส.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 ส.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,204 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 4,700 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 5,059 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 359 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (28 ส.ค. - 1 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.90-35.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ค. ปัจจัยทางการเมืองของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนส.ค.

รวมถึงผลสำรวจแรงงาน JOLTS ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) เดือนก.ค. และจีดีพีไตรมาส 2/66 (prelim.) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในระหว่างสัปดาห์ก็มีความชัดเจนเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะไฟแนนซ์ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังตอบรับประเด็นบวกภายในประเทศไปพอสมควร ประกอบกับหุ้นภูมิภาคปรับตัวลงระหว่างรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานประชุมสัมมนาประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล     

ในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,560.20 จุด เพิ่มขึ้น 2.70% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 62,794.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.25% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 6.24% มาปิดที่ระดับ 487.29 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ส.ค. – 1 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,540 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น จีนและยูโรโซน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.