คลังเตรียมชงครม.ลดภาษีน้ำเมา กระตุ้นการท่องเที่ยว

 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเบื้องต้นคาดว่า น่าจะได้ข้อสรุปและสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน ธ.ค. 2566 และคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือน ม.ค. 2567 ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคและภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้แม้กรมจะสูญเสียรายได้จากการปรับลดภาษีแต่เชื่อว่า ด้วยการใช้จ่ายที่ประเมินว่าจะมีมากขึ้น จะหนุนให้รายได้รัฐในภาพรวมดีขึ้น

 

“ตอนนี้กรมสรรพสามิตกำลังทำการบ้านอยู่ การปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งนี้ จะรวมไปถึงสุราชุมชนด้วย โดยเป็นการทำให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกว่าเวลามาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งบ้านเรามีทั้งร้านอาหารดี ๆ แล้ว ก็ควรจะต้องมีเครื่องดื่มที่ราคาเหมาะสมด้วย ไม่ใช่ราคาลอยอยู่บนฟ้า ก็ต้องทำให้ราคาสามารถจับต้องได้ ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามาประเทศไทยแล้วเป็นสวรรค์ของการใช้ชีวิต กิน อยู่ ดื่ม ท่องเที่ยว โดยการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ก็น่าจะเป็นระยะยาว เพราะกระทรวงการคลังมองไปถึงเรื่องการลงทุนในธุรกิจหลาย ๆ ตัวที่คาดว่าจะมีเข้ามามากขึ้นด้วย” นายลวรณ กล่าว

 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมพิจารณายกเลิกการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า (Duty Free) ทุกสนามบิน เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของภายในประเทศมากขึ้น แทนการซื้อสินค้าในร้านปลอดภาษี ก็จะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น คนที่ได้อานิสงส์มากที่สุดคือร้านค้า โดยเบื้องต้นทราบว่าผู้ประกอบการก็ยินดีให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล

 

นายลวรณ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.7 ล้านรายต่อปี เหลือประมาณ 500,000 รายต่อปี หรือลดจำนวนคิว/การขอตรวจเอกสารที่ต้องตรวจสินค้า จาก 4,800 คนต่อวัน เหลือเพียง 1,400 คนต่อวัน และการปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 4 หมื่นบาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 1 แสนบาทขึ้นไป 
 

 

สำหรับเงื่อนไขการขอคืนภาษีในปัจจุบันนั้น นักท่องเที่ยวต้องมียอดซื้อไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อร้านต่อวัน และจากการปรับหลักเกณฑ์ข้างต้นนี้จะช่วยลดขั้นตอนการขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้ามูลค่ารวมไม่ถึง 20,000 บาท สามารถไปขอรับคืนภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากรได้โดยไม่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรแต่อย่างใด 

 

 “ทั้งหมดคือสิ่งเครื่องมือที่กระทรวงการคลังมีและพยายามใช้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการมาเที่ยวประเทศไทย ทำให้เขารู้สึกว่ามีความสุขตั้งแต่มาเที่ยวจนกลับบ้าน เป็นความพยายามของกระทรวงการคลังและรัฐบาลเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นให้กับภาคการท่องเที่ยว ให้เขารู้สึกว่าประเทศไทยน่ามาท่องเที่ยว” นายลวรณ กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.