มาตรการรัฐ กดเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 เท่ากับ 107.45 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.92 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน สาเหตุสำคัญยังคงเป็นมาตรการภาครัฐด้านพลังงาน ที่ทำให้สินค้าในกลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91
"นอกจากราคาพลังงานที่ลดลง แล้วเงินเฟ้อที่ลดลงยังมาจาก เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.58%"
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.31% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 8 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้ที่ลดลง 0.44 เทียบช่วงเดียวกับปีก่อน มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.87% สาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ราคาลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ ราคาลดลงต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 อาทิ แก๊สโซฮอล์ 95 E85 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน เครื่องแบบนักเรียน แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน อาหารสัตว์เลี้ยง สุรา และเบียร์
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.20% ตามราคาสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (แป้งข้าวเจ้า ขนมอบ) ไข่ (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) รวมทั้ง นมข้นหวาน นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน ผักสด (คะน้า ขิง มะนาว ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ) ปริมาณยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติหลังจากบางพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนที่ผ่านมา และผลไม้สด (ทุเรียน แตงโม ส้มเขียวหวาน) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารเช้า ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด ราคาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะเนื้อสุกร และไก่สด เนื่องจากสต็อกคงเหลือมีปริมาณมาก นอกจากนี้ น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และมะขามเปียก รวมถึงผักและผลไม้บางประเภท อาทิ ต้นหอม แตงกวา ถั่วฝักยาว ลองกอง ชมพู่ มะม่วง ราคาปรับลดลง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ลดลง 0.25% เทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.58% ตามการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบินและรถจักรยานยนต์รับจ้าง เครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยง บุหรี่ และสุรา ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.23% สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ขนมอบ ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ เป็นช่วงมรสุมปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง ผักสด ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเกิดโรคใบหงิกในผักใบหลายชนิด รวมทั้ง ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม น้ำปลา อาหารโทรสั่ง (Delivery) ก๋วยเตี๋ยว และอาหารเช้า ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อโค ไข่ไก่ และผลไม้สด เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 1.41% ซึ่งอยู่ในกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 อยู่ที่ 1.0 – 3.0%
ส่วน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร กลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอีกหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0 – 1.7% (ค่ากลาง 1.35%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม
ขณะที่ ปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวดีขึ้น อาทิ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ
"ด้วยเหตุผลตามข้างต้น กระทรวงพาณิชย์ จึงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จะอยู่ระหว่าง-0.3 – 1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 0.7%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง"
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.