จับตาประชุมบอร์ดกสทช.20 ธ.ค.66 เคาะ 124 วาระ ล่มหรือไม่ !!!
การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ครั้งที่ 23/2566 วันที่ 7 ธ.ค. 2566 เริ่มประชุมเมื่อเวลา 09.30 น. และยุติการประชุมในเวลาต่อมาเวลา 10.30 น. เหตุไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากทางคณะกรรมการอีก 4 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 2.นางสาวพิรงรอง รามสูต 3.นายศุภัช ศุภชลาศัย และ 4.นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ติดภารกิจของสำนักงาน กสทช. ในการจัดการประชุม Regulatory Network Meeting (RNM 2023) ในระหว่างวันที่ 6-8 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรมดุสิตธานี ลากูนา ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งการประชุม RNM 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกจากการริเริ่มของ กสทช. โดยมุ่งหมายให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนโยบายการกำกับดูแลและข้อมูลเชิงลึกของผู้แทนหน่วยงานระดับสูง องค์กรกำกับดูแล รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศ
พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร ผู้ปฏิบัติงานประจำ ประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษก เปิดเผยว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. อีกครั้งในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เนื่องจากประธาน กสทช.และคณะกรรมการ กสทช.มีภารกิจเดินทางไปประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.2566 ปัจจุบันจากการที่ได้มีการรวบรวมบรรจุวาระทุกวาระทั้งหมดที่มีประมาณ 124 วาระ จากการรับรองรายงานการประชุม 6 ครั้ง แบ่งเป็นวาระเพื่อทราบ 22 วาระ, วาระค้างพิจารณา 39 วาระ, วาระที่จะต้องพิจารณา 62 วาระ และวาระอื่นๆ 1 วาระ ที่รอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ
โดยในวาระจำนวนนี้มีวาระที่มีเงื่อนไขเป็นระเบียบวาระที่มีกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือมีความเร่งด่วนได้แก่ วาระ (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ.2566 - 2568) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2566 -2568) พร้อมกรอบวงเงิน, วาระโครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service : TTRS), วาระการปรับปรุงแก้ไขขอบเขตงานโครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2565 จำนวน 7 โครงการ, วาระขอความเห็นชอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. เป็นต้น
และอาจจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งสุดท้ายของปีนี้ช่วงประมาณวันที่ 27-28 ธ.ค.2566 หากยังมีวาระสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องเร่งพิจารณาและวาระสำคัญเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ไม่สามารถประชุมคณะกรรมการ กสทช.ในวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านได้ เนื่องจาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และพล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช.ติดภารกิจ
ในส่วนของวาระที่สำคัญที่ได้บรรจุไว้ในวาระการประชุมนอกเหนือจากวาระที่มีกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือมีความเร่งด่วนเช่น วาระการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช., วาระ(ร่าง) โครงสร้างของสำนักงาน กสทช., วาระร่างระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...., วาระร่างแผนการผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการประชุม ITU ในประเด็นการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง การพัฒนาที่ยั่งยืน ความเท่าเทียมทางเพศและการคุ้มครองเด็กออนไลน์, วาระการพิจารณากำหนดกรอบวงเงินการจัดสรรของกองทุนฯ ประจำปี 2567
วาระการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม, วาระการแต่งตั้งที่ปรึกษาในคณะอนุกรรมการด้านการให้บริการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ 4 กสทช.ได้อธิบายถึงเหตุผลในการร่วมงาน Regulatory Network Meeting หรือ RNM 2023 ว่า การประชุมดังกล่าวได้มีการเตรียมงานมานานเกือบ 1 ปี โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามระเบียบขั้นตอนตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 และได้ดำเนินการเทียบเชิญหน่วยงานกำกับดูแลและนักวิชาการะดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการ RNM 2023 ในปีนี้ มีผู้แทนจากองค์กรกำกับดูแล (Regulators) สถาบัน Think Tank และนักวิชาการระดับโลก (Academics) เข้าร่วมประชุมกว่า 11 ประเทศ เช่น Malaysian Communications and Multimedia Commission (MCMC), Australian Competition and Consumer Commission (ACCC), Australian Communications and Media Authority (ACMA) ,Federal Communications Commission (FCC), The Center for Growth and Opportunity, American Enterprise Institute, OECD, Unicef, University of Florida, Aalborg University, Victoria University of Wellington, Korea University และ Chuo University เป็นต้น
โดยการหารือในที่ประชุม RNM 2023 ครั้งนี้ ครอบคลุมประเด็นด้านนโยบายที่ท้าทายที่มีความสำคัญในปัจจุบันทั้งหมด 5 ประเด็น ตั้งแต่ด้านการแข่งขันและการรวมกิจการ (Merger and Competition) ด้านการกำกับดูแลความเป็นส่วนตัว การถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน และการค้าดิจิทัล (Privacy Regulations, Cross-border Data and Digital Trade) ด้านกำกับดูแลบริการ OTT ภายใต้ความท้าทายด้านเทคโนโลยี เช่น AI (New Regulatory Challenges from OTT and AI) ด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) และด้านเทคโนโลยีในอนาคตและความท้าทายในการกำหนดนโยบาย (Technology and Public Policy Challenges)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.