หุ้น EV ยิ้ม! คนแห่จองรถยนต์ไฟฟ้างาน Motor Expo แน่น
ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ในงาน Motor Expo นับตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. - 5 ธ.ค.2566 เพียง 7 วันเท่านั้นยอดจองรวมพุ่งเฉียด 1 หมื่นคัน โดยค่ายรถยนต์ EV ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน มียอดจองติด 6 ใน 10 อันดับแรก ทั้ง BYD อันดับ 2 ยองจอง 2,627 คัน , AION เข้าร่วมงานครั้งแรก ติดอันดับ 4 ยอดจอง 1,824 คัน ,
MG อันดับ 5 ยอดจอง 1,577 คัน , GWM อันดับ 6 ยอดจอง 1,544 คัน , ฉางอาน ร่วมงานครั้งแรก ติดอันดับ 7 ยอดจอง 1,509 คัน และ NETA อันดับ 10 ยอดจอง 791 คัน
จากนี้เหลือเวลาอีกเพียง 6 วัน ต้องติดตามต่อว่าบทสรุปงาน Motor Expo ที่จัดในวันสุดท้ายคือ 11 ธ.ค.นี้ ยอดจองรถยนต์ EV จะสามารถแตะระดับ 2 หมื่นคันได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ หุ้นที่เกี่ยวพันกับรถยนต์ EV โหนกระแสความนิยมนี้อย่างแน่นอน
ราคาหุ้น ASAP ปิดการซื้อขายเช้านี้(7 ธ.ค.2566) อยู่ที่ 3.56 บาท เพิ่มขึ้น 0.42 บาท คิดเป็น +13.38% มูลค่าการซื้อขาย 114.23 ล้านบาท
ราคาหุ้น NYT ปิดที่ 4.12 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาท คิดเป็น +1.98% มูลค่าการซื้อขาย 16.42 ล้านบาท
ราคาหุ้น STANLY ปิดที่ 177.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท คิดเป็น +0.28% มูลค่าการซื้อขาย 0.85 ล้านบาท
ราคาหุ้น WHA ปิดที่ 5.15 บาท ลดลง 0.10 บาท คิดเป็น -1.90% มูลค่าการซื้อขาย 81.93 ล้านบาท
ราคาหุ้น COM7 ปิดที่ 22.60 บาท ลดลง 0.30 บาท คิดเป็น -1.31% มูลค่าการซื้อขาย 220.57 ล้านบาท
ราคาหุ้น SJWD ปิดที่ 14.60 บาท ลดลง 0.20 บาท คิดเป็น -1.35% มูลค่าการซื้อขาย 34.08 ล้านบาท
ราคาหุ้น AH ปิดที่ 27.50 บาท ลดลง 0.25 บาท คิดเป็น -0.90% มูลค่าการซื้อขาย 11.04 ล้านบาท
ราคาหุ้น SAT ปิดที่ 17.70 บาท ลดลง 0.10 บาท คิดเป็น -0.56% มูลค่าการซื้อขาย 4.23 ล้านบาท
นักวิเคราะห์ บล.ดาโอ(ประเทศไทย) ระบุว่า ฝ่ายวิเคราะห์มองบวกต่อยอดจองรถ EV ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยประเมินสัดส่วนยอดจอง EV ในงาน Motor Expo 2023 ในช่วงครึ่งทาง 29 พ.ย-5 ธ.ค.2566 จะอยู่ที่ราว 45% ซึ่งจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงาน Motor Show 2023 ที่อยู่ที่ 21.5% และ Motor Expo 2022 อยู่ที่ 15% ซึ่งฝ่ายฯมองว่า EV ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
5 หุ้นโดดเด่น
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากความต้องการรถ EV ที่เพิ่มขึ้น เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจนิคม (WHA), ตัวแทนขายรถ EV (COM7 และ ASAP) และผู้ประกอบการ logistics รถ EV (NYT / SJWD) ซึ่งในกลุ่ม logistics จะได้ประโยชน์ช่วงสั้นจากการนำเข้า EV ที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ปี 2567 ค่ายรถ EV จะเริ่มผลิตได้ในประเทศจะทำให้นำเข้า EV ลดลงได้
โดยแนะนำซื้อหุ้น WHA เป้า 6.30 บาท มองเป็นบวกต่อ presale ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากการเข้ามาลงทุนของ GAC (Top 3 ในจีน) ที่มีความชัดเจนมากขึ้น และจะสามารถรับรู้ presale ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 67 จากยอดขายรถ GAC AION ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ทาง GAC ได้ประกาศลงทุน 2.3 พันล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานเฟสแรกในจังหวัดระยอง คาดแล้วเสร็จ ก.ค.2567 ที่กำลังการผลิต 5 หมื่นคันต่อปี
หุ้น COM7 แนะนำซื้อ เป้า 30 บาท และ ASAP จะได้ผลบวกจากการเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกหรือดีลเลอร์รถยนต์ EV อย่าง AION และ Changan ตามลำดับ จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเราคาดว่าจะต้องระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 1-2 ปี เพื่อที่จะคุ้มทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเสื่อมราคาโชว์รูม และค่าใช้จ่ายพนักงาน
หุ้น NYT แนะนำซื้อ เป้า 5.30 บาท ได้ผลบวกจากยอดจองรถ EV ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ปริมาณรถยนต์ผ่านท่าเทียบเรือของ NYT ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเราประเมิน NYT จะมีสัดส่วนการนำเข้ารถ EV ราว 7-8% จากยอดส่งออกและนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด
หุ้น SJWD แนะนำซื้อ เป้า 18 บาท โดย SJWD มีสัดส่วนกำไรขั้นต้นราว 13% มาจากการส่งออกนำเข้ารถยนต์ และคาดว่าจะมีกำไรขั้นต้นจากการนำเข้า EV ราว 6-7% ซึ่ง SJWD มีการรับงานให้บริการด้านโลจิสติกส์ สำหรับรถ EV เพิ่มขึ้น จากทุกค่ายรถ EV จากจีน โดยเฉพาะ BYD ที่จะเติบโตโดดเด่นสุด จากการเปิดขายรถรุ่นใหม่ SEAL
EV จีนมาแรง
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.พาย ระบุว่า มองภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงปลายปี 2566 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างมาก อย่างเช่นล่าสุด การจัดงาน Motor Expo BYD ที่ BYD มียอดจองรถยนต์ในงานช่วงวันที่ 30 พ.ย. - 5 ธ.ค.2566 สูงเป็นลำดับที่ 2 เป็นรองเพียง Toyota เท่านั้น
ขณะที่ค่ายรถยนต์ที่มีผู้จองสูงสุด 10 รายแรกเป็นค่ายรถยนต์ จากจีนถึง 6 ราย ให้ฝ่ายวิเคราะห์มองว่าด้วยการเติบโตดังกล่าวจะทําให้ความเป็นไปได้ที่ภายในปี 2573 จะมีรถยนต์ที่ผลิตในไทยอย่างน้อย 30% เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยยังคงเห็นการเติบโตได้
อย่างไรก็ตาม ส่งที่ต้องติดตามคือการปรับตัวของผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมานานว่าจะเปลี่ยนแปลง เพียงใด ความคืบหน้าล่าสุดคือ TOYOTA และ ISUZU มีแผนผลิตรถกระบะไฟฟ้าในไทยอย่างแน่นอน
ส่วนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอื่นๆ มีเพียง HONDA ที่มีแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่ม แต่ยังต้องรอว่าจะเริ่มเมื่อใด รวมแล้วแม้อุตสาหกรรมยัง มีการเติบโต แต่ด้วยความเสี่ยงจากค่ายญี่ปุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงล่าช้า ฝ่ายฯจึงยังคงนํ้าหนักการลงทุนไว้ที่ "เท่าตลาด" เช่นเดิม โดยยังคงเลือก AH เป็น Top Picks ของกลุ่มเพราะเป็นผู้ประกอบการ เพียงรายเดียวที่เริ่มผลิตชิ้นส่วนให้กับรถ EV แล้ว
หลังจากที่ไทยออกนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา และทําให้มีรถยนต์จากจีนเข้ามาขาย เพิ่มตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างมาก โดยยอดจดทะเบียนสะสมในช่วง 10 เดือนแรกของปี2566 สูงถึง 58,000 คัน เพิ่มขึ้น 711%YoY ขณะที่การจัดงาน Motor Expo ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค. มียอดจองในงานช่วง 7 วันแรก (30 พ.ย.-5 ธ.ค.) รวมที่ 22,461 คัน โดยค่ายรถยนต์จีนอย่าง BYD มียอดจองสูงถึง 2,627 คัน นอกจากนี้ในยอดจอง 10 อันดับแรกเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากจีนถึง 6 ราย
ขณะที่ยอดจองรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่น อย่าง Mitsubishi ลดลง 36% และ Isuzu ลดลง 18% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของการเปิดงานในปีก่อน โดยกลุ่มดังกล่าวมียอดขายรถกระบะค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันตลาดรถกระบะใน ประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษกิจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการลดลงดังกล่าวอาจกระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่มากนัก เพราะมีตลาดส่งออกเข้ามาช่วย (ยอดส่งออกรถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี66 เพิ่มขึ้น 16%YoY
EV3.5 ชัดหนุน
จากการที่มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าระยะที่ 3 (EV3.0) จะสิ้นสุดในช่วงปลายปี66 ล่าสุดทางภาครัฐมีการ ออกนโยบายส่งเสริมเพิ่มเติม โดยจะใช้ระหว่างปี 24-27 โดยรายละเอียดหลักคือยังคงให้เงินสนับสนุนสําหรับรถยนต์ที่ขายใน ประเทศอยู่ แต่มีการปรับลดจํานวนเงินช่วยเหลือลงอย่างเช่น รถยนต์ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท มาตรเดิมให้ส่วนลด 150,000 บาท/ คัน แต่มาตรการใหม่จะอยู่ที่ 20,000-100,000บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับขนาดแบตเตอรี่
การที่ยังมีมาตรการสนับสนุนดังกล่าวอยู่ ทําให้แนวโน้มการเกิดขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีโอกาสเติบโตอยู่ โดยส่วนลดที่น้อยลง คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์จะชดเชยโดยการตั้งราคาเริ่มต้นที่ต่ำลง หลังมีเริ่มการผลิตในประเทศแทนการนำเข้า ซึ่งการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีมาตั้งแต่มาตรการ EV3.0 แล้ว
AH เริ่มผลิตอีวี
สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เราวิเคราะห์ทั้ง 3 ราย (AH, SAT, STANLY) ณ ปัจจุบันมีเพียง AH เท่านั้นที่มีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV แล้วอย่างเช่นรถยนต์ Vinfest รุ่น VFB VF9 หรือ BMW iX,i7 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตจากจีนรายอื่นเพิ่มเติมอีก รวมถึงลูกค้าหลักอย่าง ISUZU ก็มีแผนผลิตรถกระบะไฟฟ้าปี 25 เช่นกัน
ฝ่ายฯจึงมองว่าการเข้ามาของรถยนต์ EV จะไม่กระทบกับ AH แต่อย่างใด ทําให้เรายังคงเลือก AH เป็น Top Picks ของกลุ่ม แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมาย 46 บาท Dividend Yield ปีนี้ 6%
ขณะที่ SAT ให้ราคาเป้าหมาย 26.40 บาท Dividend Yield ปีนี้ 8% , STANLY ให้ราคาเป้าหมาย 225 บาท Dividend Yield ปีนี้ 6%
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.