SCGD เคาะราคาขายสุดท้ายไอพีโอ 11.50 บาท/หุ้น จองซื้อ 8, 12-13 ธ.ค. เทรด ธ.ค.นี้

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นของ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGD หลังจากสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้นจากนักลงทุนสถาบัน ถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างดีและมีผู้แสดงความต้องการจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ 

ดังนั้นจึงกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย IPO ที่ 11.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายสุดท้าย และจะเปิดให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 8 และ 12-13 ธ.ค.2566 ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย IPO 

การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ COTTO เพื่อแลกหุ้นและเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป มีจำนวนไม่เกิน 439,100,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.61% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท จะเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและศักยภาพการขยายธุรกิจ 

โดย SCGD จะนำไปขยายธุรกิจทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ชำระเงินกู้ การควบรวมกิจการในอนาคต เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับโครงสร้างเงินทุน 

ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างและเสนอขาย IPO เป็นที่เรียบร้อย SCGD จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีผลให้ผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์กลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCGD

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGD กล่าวว่า บริษัทผสานความแข็งแกร่งของ 5 บริษัทย่อย มุ่งขยายธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และคงความเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการขยายตลาดใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพเติบโตสูงจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 560 ล้านคน 

โดยใช้จุดแข็งด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค มีสินค้านวัตกรรมและผลิตภัณฑ์หลากหลาย สามารถตอบสนองลูกค้าทุกระดับ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ทั้งเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายกว่า 800 ราย และร้านค้าเครือข่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ร้าน ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัท และออนไลน์ รวมถึงตลาดส่งออกกว่า 57 ประเทศ 

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจากการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ชนชั้นกลาง คาดว่ามูลค่าตลาดรวมวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2565-2569 จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 180,000 ล้านบาท เป็น 250,000 ล้านบาท โดยความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการสินค้าระดับพรีเมียม สินค้าที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม Smart Products มากยิ่งขึ้น จะเป็นโอกาสของบริษัทฯ ที่จะขยายตลาดในภูมิภาคนี้ 

ปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย กำลังการผลิตรวม 187.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ติดท็อป 5 ของโลก มีโรงงานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย กำลังการผลิต 2.3 ล้านชิ้นต่อปี และโรงงานผลิตก๊อกน้ำในประเทศไทย กำลังการผลิต 1.7 ล้านชิ้นต่อปี และมีส่วนแบ่งการตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงส่วนแบ่งตลาดสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย  

นายนำพล กล่าวว่า บริษัทวางแผนขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก โดยเห็นโอกาสขยายตลาดสุขภัณฑ์จากประเทศไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ดีคือการที่ปัจจุบันบริษัททำการขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายสุขภัณฑ์ในเวียดนาม โดยต่อยอดจากร้านผู้แทนจำหน่ายกระเบื้อง และจะใช้ ‘COTTO’ เป็นแบรนด์เรือธงเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม 

ขณะเดียวกันจะขยายตลาดผลิตภัณฑ์กระเบื้องไวนิล SPC วัสดุตกแต่งพื้นผิวทางเลือกใหม่ในตลาดอาเซียน ล่าสุดได้เดินหน้าแผนลงทุนติดตั้งสายการผลิตใหม่ที่โรงงานหินกอง สระบุรี กำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี รวมถึงเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ เช่น เตรียมลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนรวม 6.6 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และอยู่ระหว่างศึกษาแผนลงทุนโรงงานกระเบื้องในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่ดังกล่าว 

นอกจากนี้ ไตรมาส 3/2566 ได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่กระเบื้องเซมิ-เกลซ พอร์ซเลน และกระเบื้องขนาดใหญ่อีก 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่โรงงาน Dai Loc ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นสินค้าระดับกลางถึงพรีเมียมที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.