หน้าร้อนค่าไฟอ่วม จี้รัฐ ปลดล็อก ติดโซลาร์เซลล์บ้าน หักลบหน่วยไฟฟ้า
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ระบุว่า หากกระทรวงพลังงานอนุมัติให้ขึ้นค่าเอฟที (Ft) เพิ่มอีก 20 สตางค์ต่อหน่วย และแม้ดูเหมือนว่าจะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ กกพ. เสนอ แต่การขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงเข้าหน้าร้อนของประเทศไทย และจะทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนจะสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทันที เพราะในช่วงอากาศร้อนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอยู่แล้วโดยเฉพาะการใช้เครื่องปรับอากาศ
สอดคล้องกับการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ระบุว่า การเปิดเครื่องปรับอากาศท่ามกลางอากาศร้อน ยิ่งทำให้กินไฟมากขึ้นจริง และหากอากาศร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 14 ตัวอย่างเช่น จากเดิมเคยใช้ไฟต่อเดือน 300 หน่วย และเคยจ่ายค่าไฟหน่วยละ 4 บาท จะทำให้ต้องจ่ายค่าไฟ 1,200 บาท ก็จะมีการใช้ไฟเพิ่มขึ้นเป็น 342 หน่วย แต่หากปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย ก็ต้องจ่ายค่าไฟมากถึง 1,600 บาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 400 บาทเป็นอย่างน้อย หรือหากปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.20 บาทต่อหน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟ 1,436 บาท หรือเพิ่มขึ้น 236 บาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมค่าบริการรายเดือนและภาษีมูลค่าเพิ่ม
นางสาวรสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาผู้บริโภคได้เสนอความเห็นต่อ กกพ. ไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าเอฟที ในรอบนี้เพราะอากาศร้อนขึ้นและจะมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้น ประกอบกับข้อมูลที่ระบุถึงความเป็นไปได้ของสภาวะอากาศร้อนในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนั้นจะมีความร้อนสูงมากกว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน และที่ตามมาคืออาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะสูงมากกว่าหน้าร้อนของปี 2566 อีกด้วย
ดังนั้น กระทรวงพลังงานและ กกพ. จึงควรเร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าและควรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตัวเองได้มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการเร่งประกาศนโยบายเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ด้วยการปลดล็อกให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ลดค่าไฟฟ้าและให้มีการติดเน็ตมิเตอร์ริงที่สามารถนับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตเกินจากหลังคาโซลาร์เซลล์เข้าสู่การไฟฟ้าในเวลากลางวัน และนับหน่วยไฟฟ้าที่นำเข้ามาใช้จากการไฟฟ้าในเวลากลางคืนเมื่อโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้
เน็ตมิเตอร์ริงนี้สามารถนำหน่วยที่ส่งออกและนำเข้ามาหักกลบลบจนเหลือยอดสุทธิในปลายเดือนได้ เพื่อให้ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ประโยชน์สูงสุดจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันทีหรืออาจสร้างรายได้เมื่อมีหน่วยไฟฟ้าส่วนเกินขายให้กับการไฟฟ้า
รวมถึงควรขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของประชาชนเพิ่มจาก 10 ปี เป็น 20 หรือ 25 ปี ตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ด้วยระบบเงินผ่อน นอกจากนี้ขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ตาม พ.ร.บ.การควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ โดยการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพียง 9 – 10 แผง โดยอนุโลมให้ไม่ต้องใช้วิศวกรตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง เนื่องจากไม่ได้ส่งผลต่อโครงสร้างของหลังคาบ้าน และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับประชาชน
ดังนั้น การให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านของตัวเองได้จะทำให้มีการนำศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ในประเทศมาใช้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการนำเข้าไฟฟ้าและก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) จากนอกประเทศ และยังเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประชาชนจากโซลาร์เซลล์ราว 3,000 เมกะวัตต์ โดยจะก่อให้เกิดการจ้างงานด้านการผลิตและติดตั้งโซลาร์เซลล์ในช่วงระยะเวลา 3 ปีมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แรงงานราว 3,200 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งความท้าทายในการเร่งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน และจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.