กสทช.ผุดเน็ตสลัม-ไวไฟตำบลช่วยกลุ่มเปราะบาง อุดช่องโหว่คนจนในเมือง

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังตนอยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566) เพื่อดำเนินงานในการขับเคลื่อนการออกประกาศที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปและเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ความหมายของบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน 2.ความเหมาะสมของของการกำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้ แผน USO ฉบับที่ 4 3. การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO และ 4.การใช้จ่ายเงินตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนด

ทั้งนี้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ในการกำหนดแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (ยูโซ่) ครอบคลุมทั้งในมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคมในพื้นที่ชนบท พื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ พื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการ หน่วยบริการประชาชนภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยกสทช.กำลังคุยกับกรุงเทพมหานครเพื่อสรุปตัวเลขกลุ่มผู้มีรายได้และกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและตามหัวเมืองใหญ่ลงลึกถึงตำบล ซึ่งจะนำมาหาแนวทางมาตรการช่วยเหลือให้ลดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล โดยจะบรรจุความช่วยเหลือในแผน USO 4 ในร่างแผนแม่บทโทรคมนาคม (แผน 3) และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (แผน 4) ซึ่งจะเริ่มใช้งานปี 2567 

นายสมภพ กล่าวว่า คนจนเมือง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่อาศัยในชุมชนแออัดถือเป็นกลุ่มเปราะบางในจำนวนนี้มีทั้งเด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา และกลุ่มคนทำงานที่มีรายได้ไม่มากนัก ดังนั้น ต้องมาคุยกันว่า กสทช.และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะช่วยเหลืออย่างไร

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ในส่วนกสทช.ด้านโทรคมนาคมต้องเร่งดำเนินการในปีหน้า คือ การผลักดันให้เกิด 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยปัจจุบันได้หารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการนำคลื่นความถี่ 3500 MHz จำนวน 100 MHz ช่วงคลื่น 3600 MHz-3700 MHz จากคลื่นทั้งหมดที่มีประมาณ 400 MHz เพื่อนำมาให้กลุ่มอุตสาหกรรมประมูลทำไพรเวท เน็ตเวิร์ก 5G

คาดว่าหากผลการศึกษาพบว่ามีความต้องการของตลาด และมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลก็จะส่งผลการศึกษา และผลการหารือกับภาคส่วนต่างๆ ให้สำนักงาน กสทช.ศึกษาถึงแนวทางในการประมูลอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณา หากมีความเห็นชอบร่วมกัน คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 - ต้นปี 2568 

สาเหตุที่กสทช.เร่งดำเนินการโรดแมปดังกล่าว เนื่องจาก ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม โทรคมนาคม และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการความชัดเจนของแผนในการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศไทยในระยะ 2-5 ปี ข้างหน้าว่าสำนักงาน กสทช.มีแผนจะจัดสรรคลื่นอย่างไรบ้าง เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจในอนาคต รวมถึงงบประมาณที่ต้องวางแผนล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ กสทช. จะมีการเสนอตั้งคณะทำงานของสำนักงานฯขึ้นมาทำงาน รวมถึงการทำ ฟอร์ไซท์  หรือการคาดการณ์ความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ในอนาคตว่า มีความต้องการอย่างไรบ้าง  โดยจะมีการศึกษาดูในเรื่องความพร้อมของผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และสถานการณ์ทางการเงินของผู้ประกอบการ  ราคาเเครื่องโทรศัพท์มือถือรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะออกมา เป็นต้น 

นายสมภพ  กล่าวว่า คลื่นความถี่ที่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที จะคืนมาในปี 2568 นั้น กสทช.ต้องมาดูว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้อย่างไรบ้าง หรือเอกชนมีความสนใจจะใช้งานต่ออย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนขยายโครงข่ายไปจำนวนมาก ก็อาจจะนำออกมา ประมูลต่อ ส่วนคลื่นความถี่ 3500 MHz  ที่มีอยู่ประมาณ 400 MHz นั้น ได้มีแนวทางในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว คาดว่าจะใช้กรอบระยะการทำงาน 2 ปี เพื่อศึกษาปริมาณคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ที่สามารถนำมาจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคม และแนวทางเตรียมความพร้อมของคลื่นความถี่ก่อนที่จะนำมาจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคม 

นอกจากนี้คณะทำงานจะศึกษาความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อรองรับการเติบโตของบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ รวมถึงการศึกษาและจัดทำโรดแมป การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ และการกำหนดรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับทั้งภาคอุตสาหกรรมและสำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) 

ดังนั้น กสทช.จึงอยู่ระหว่างการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ. 2556,ประกาศการใช้โครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สาย พ.ศ.2562,ประกาศการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายภายในประเทศ พ.ศ. 2562,ประกาศมาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2564,ประกาศอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2564 และ ประกาศการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2556

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.