งานโทรคมฯ-วิทยุดิจิทัล กสทช.หวั่นสะดุด หลัง “ไตรรัตน์” เซ็นโยกย้ายล็อตใหญ่
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งสำนักงาน กสทช. ให้พนักงานพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทน รวมถึงการย้ายและแต่งตั้งใหม่กว่า 69 คน ได้แก่ พนักงานเป็นผู้รักษาการแทน กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งจำนวน 16 คน ,คำสั่งย้ายและแต่งตั้งพนักงาน จำนวน 28 คน,คำสั่งย้ายและแต่งตั้งพนักงาน จำนวน 18 คน และคำสั่งให้พนักงานพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทน กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง จำนวน 7 คน มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2567 นั้น
แหล่งข่าวจากกสทช.ระบุว่า คำสั่งดังกล่าว มีผลกระทบต่อสายงานด้านกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว มีผลทำให้นางสาวพูลศิริ นิลกิจศรานนท์ รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม (ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง) มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุน ขับเคลื่อนนโยบาย/ภารกิจสำคัญของ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม จำนวน 11 เรื่อง ได้แก่
1.เรื่อง Cell Broadcast หรือ ระบบการเตือนภัยพิบัติที่อยู่ระหว่างการร่างวาระเสนอต่อที่ประชุมกสทช.ภายในไตรมาส 1/2567 เพื่อลงมติสนับสนุนงบประมาณ สำหรับหน่วยงานกลางที่รัฐบาลมอบหมาย และงบประมาณลงทุนระบบ ผ่านกองทุน กทปส. สำหรับให้ผู้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ที่ลงทุนระบบดังกล่าวสามารถเบิกงบประมาณผ่านกองทุนได้
2.นโยบายเรื่องคลื่น 3500 MHz สำหรับ Private 5G โดยมีเป้าหมายทำโฟกัส กรุ๊ป ส่วนกลางภายในไตรมาส1/2567 และส่วนภูมิภาคภายในไตรมาส 2/2567 เพื่อจัดสรรคลื่น 3600-3700 MHz จำนวน 100 MHz ภายในไตรมาส4/2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการหารือกับ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ขนาดใหญ่ 2 ราย ขนาดกลาง 3 ราย และการหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วย
3.คลื่น 3500 MHz สำหรับ IMT โดยมีเป้าหมายในการวางโรดแมป 5 ปี ให้เสร็จภายในไตรมาส1/2567 รวมถึงการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์คลื่น 3700-4200 MHz ภายในปี 2568 และการจัดสรรคลื่น 3300-3600 MHz จำนวน 300 MHz ภายในปี 2569-2570 การจัดสรรคลื่น 3700-4000 MHz จำนวน 300 MHz ในปี 2571-2572 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ให้บริการรายใหญ่ 2 ราย และสำนักงานกสทข.อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงาน รวมถึงการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ทั้งดีมานด์ ซัพพลาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน ม.ค. 2567
4.แผน 5.5G toward 6G & upper C band (6.425 – 7.125 GHz) for IMT เพื่อทำบทวิเคราะห์และการกำหนดโรดแมป 10 ปี ของคลื่นดังกล่าวที่ต้องแล้วเสร็จภายในไตรมาส4/2567
5. สิทธิแห่งทาง การจัดระเบียบสายสื่อสาร/นำสายสื่อสารลงดิน และ Last Mile License (LML) โดยมีแผนปรับปรุงแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร/นำสายสื่อสารลงดินปี 2566-2567 ภายในไตรมาส1/2567รวมถึงการจัดทำร่างประกาศ Last Mile License (LML) ภายในไตรมาส1/2567
6.การส่งเสริม MVNO และปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ภายใน ประเทศ ทั้งค้าส่งและค้าปลีก มีแผนแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ภายใน ไตรมาส2/2567 ได้แก่
- บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน
- การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สาย
- การใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายภายในประเทศ
- มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
- อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
- การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
7.อัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายประเภทข้อมูล (IC Data) มีแผนออกร่างประกาศใหม่ฯ ภายในไตรมาส2/2567
8. แผนแม่บทโทรคมนาคม (แผน 3) 2567 ถึง 2571 มีกำหนดเสนอ กสทช. ภายในไตรมาส4/2566
9.การป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม
10.การจัดระเบียบการใช้งานวิทยุคมนาคมทางทะเล
11. แผนการทำ 5G Use Cases สำหรับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 4.0 และโครงการ 5G Use Cases สำหรับลดความเหลื่อมล้ำ มีแผนจะเสนอทั้ง 2 โครงการภายในไตรมาส 2/2567
แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม พ้นจากการทำหน้าที่ โดยไม่ได้มีการหารือกับรองเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม ย่อมส่งผลกระทบต่อภารกิจของสายงานกิจการโทรคมนาคม ที่ได้รับมอบนโยบายและภารกิจสำคัญที่จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและหลายด้าน รวมถึงประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานประกอบกัน เพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงได้
อีกทั้งการโยกย้ายบุคลากรด้านสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มาทำหน้าที่รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม สะท้อนถึงความไม่เข้าใจและสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรของผู้บริหารหรือผู้สั่งการ
นอกจากนี้ การโยกย้าย ผู้อำนวยการสำนักบริหารคลื่นความถี่ แม้ว่าจะอยู่ในสายงานบริหารองค์กร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสายงานกิจการโทรคมนาคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าคลื่น 3500 MHz มีความสำคัญเป็นอย่างมากในบริบท Digital Transformation ซึ่งนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
การโยกย้าย ผู้อำนวยการสำนักบริหารคลื่นความถี่ ในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำถึงความไม่เข้าใจและสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรของผู้บริหารหรือผู้สั่งการ
นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังได้โยกย้ายนางปาริตา วงศ์ชุตินาท จาก ผู้อำนวยการวิศวกรรมและเทคโนโลยีในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ไปเป็น ผู้อำนวยการสำนักกิจการภูมิภาค สายงานภูมิภาค เป็นการกระทำซึ่งถือว่าขัดต่อนโยบายการดำเนินงานตามมติของ กสทช. และ นโยบายด้านกระจายเสียงโดยตรง
เนื่องจาก กสทช. เพิ่ง มีมติในเรื่องการปรับปรุงแผนวิทยุในระบบเอฟเอ็ม และ ให้นำไปรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนนโยบาย ตามแผนแม่บทด้านกิจการกระจายเสียงที่ให้เร่งรัดจัดทำแผนความถี่วิทยุในระบบดิจิทัลโดยเร็ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศที่จะต้องยุติการออกอากาศในธ.ค. 2567 นี้ ไปสู่การได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องหลักและเป็นนโยบายเร่งด่วน
ดังนั้น การโยกย้ายพนักงานที่เกิดขึ้นตามคำสั่งสำนักงาน กสทช. ดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารระดับผู้อำนวยการสำนักขึ้นไป ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันงานที่ได้รับมอบหมายอย่างยิ่ง การแต่งตั้งผู้ที่ไม่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนั้น ๆ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่องาน และยังส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การโยกย้ายแต่งตั้งพนักงานต้องคำนึงถึงเหตุการณ์และช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย การดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายในขณะที่อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการสำคัญ ย่อมส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินงาน เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จลุล่วงของงานต่อไปในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันที่ 28 พ.ย.2566 การประชุมบอร์ดกสทช.ล่มอีกเป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากบอร์ดทั้ง 4 คน ได้แก่ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,นางสาวพิรงรอง รามสูต ,นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ติดภารกิจร่วมการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 หรือ The 16th International Telecommunications Society Asia-Pacific Regional Conference (ITS Asia-Pacific 2023)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.