9 หุ้นเด่น รับผลบวกส่งออกไทย ต.ค. ขยายตัว 8.0% นำเข้า พุ่ง 10.2%
ตามที่ วันนี้ (27 พ.ย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค.2566 มีมูลค่า 23,578.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.0% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,411.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้ในเดือน ต.ค. ขาดดุลการค้า 832.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค.2566 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยการส่งออกของโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ขยายตัวมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน มีสัญญาณฟื้นตัวในหลายสินค้าสำคัญที่กลับมาเป็นบวกหรือหดตัวชะลอลง อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสัตว์เลี้ยง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ฯลฯ ด้วยแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ทยอยฟื้นตัวในช่วงเทศกาลปลายปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกเริ่มลดลง
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาณใกล้ยุติมาตรการคุมเข้มทางการเงินโดยเฉพาะสหรัฐ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนเริ่มส่งผล โดยตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น สำหรับสถานการณ์อิสราเอลและฮามาสยังคงอยู่ในวงจำกัดจึงยังไม่กระทบต่อการส่งออกภาพรวม
สำหรับการส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 236,648.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.7% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 243,313.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.6% ส่งผลให้ 10 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้า 6,665 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่มาตรการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ทำแผนเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อผลักดันการส่งออก โดยจะดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 73 กิจกรรม คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 12,400 ล้านบาท
โดยกิจกรรมสําคัญ เช่น การจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนงานแสดงสินค้า China International Import Expo (CIIE 2023) ที่นครเซี่ยงไฮ้ การนําผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น Automechanika ที่ดูไบ American Film Market ที่สหรัฐ Anuga และ Medica ที่เยอรมนี รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์ม Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงสุดท้ายของปีจะขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง สอดรับกับแรงกดดันด้านราคาที่ค่อยๆ ลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ที่หากขยายวงกว้างอาจจะกระทบต่อราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกที่กำลังกลับมาฟื้นตัว
ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรีพัฒนสิน ระบุว่า สินค้าส่งออก ต.ค.2566 เด่น หนุนจากสินค้าเกษตร คือ อาหารสุนัขและแมว เพิ่มขึ้น 5.5%y-y (vs 10M23 ลดลง 19%) ไก่แปรรูป ลดลง 2.2%y-y (vs 10M23 ลดลง 7.5%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลดลง 5.6% (vs 10M23 ลดลง 10.4%) สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ต่อ คือ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ เพิ่มขึ้น 27.3%y-y (vs 10M23 เพิ่มขึ้น 64.4%y-y)
สินค้านำเข้าบ่งชี้ภาคผลิตที่เริ่มกลับมาขยายตัว หลัง Inventories ไทยหดตัวมาต่อเนื่อง 2 ไตรมาส บ่งชี้เศรษฐกิจภายในกำลังฟื้นตัว สะท้อนจากสินค้าทุน เพิ่มขึ้น 21.3%y-y (vs 10M23 เพิ่มขึ้น 2.5%) สินค้าวัตถุดิบ เพิ่มขึ้น 3.5%y-y (vs 10M23 ลดลง10.9%)
สำหรับดุลการค้าที่ขาดดุลระยะสั้น มองไม่น่ากังวลจนเกินไป เพราะมีสัญญาณภาคผลิตภายในเริ่มติดเครื่องฟื้นขึ้น โดยดุลการค้าที่ขาดดุลระดับนี้ จะยังไม่ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค. กลับมาขาดดุล แต่จะเกินดุลน้อยลงเหลือราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ก.ย. 3.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพราะการท่องเที่ยวยังเป็นตัวช่วย
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.197 ล้านคน ในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 49.7% y-o-y (ก.ย. 2.13 ล้านคน เพิ่มขึ้น 69.2%) และฝ่ายวิจัยฯ คาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ต.ค. อยู่ที่ราว 2.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นของเดือน ก.ย. ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.69 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในเชิงกลยุทธ์ มองภาพบวกต่อรายงานส่งออกและนำเข้าในเดือน ต.ค.2566 โดยสินค้าเกษตรเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ยืนยันภาพกลุ่มกำลังทยอยผ่านจุดต่ำสุด และอิงกลุ่มสินค้าที่มีพัฒนาการบวก มองเป็นภาพที่ดีต่อ AAI, ITC, GFPT, TU สินค้าอุตสาหกรรม KCE ส่วนนำเข้าดังกล่าวมองสะท้อนภาคผลิตจะกลับมาเร่งตัว สะท้อนภาพเศรษฐกิจภายในฟื้น จะหนุนหุ้นอิงภายในคึกคักขึ้น CPALL, CPAXT, DOHOME, GLOBAL
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.