คลัง ชี้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ 5 ความท้าทาย มั่นใจฐานะการเงิน-คลังยังแกร่ง

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในพิธีปิดหลักสูตร Wealth of Wisdom รุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งจัดโดย บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน)ในหัวข้อก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยโดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายต้องก้าวข้ามใน 5 เรื่องหลัก

ประกอบด้วย 1.ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจาก โลกมีความขัดแย้ง การเงินผันผวน เศรษฐกิจเติบโตต่ำ ซึ่งเป็นผลของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและปริมาณการค้าโลกความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กระทบราคาพลังงานในตลาดโลก การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้อทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน IMF คาดเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอตัวลงไปอยู่ที่ 2.9% จาก 3.0% ในปีนี้ และต้องจับตาปัญหาช่องแคบไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี

 

2.ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เติบโตเฉลี่ยลดลงตลอด 20 ปี โดยในปี 2566 เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องไตรมาส 1 , 2 และ 3 ขยายตัว 2.6% ,1.8% และ 1.5% ตามลำดับ ฉะนั้น 3 ไตรมาสขยายตัว 1.9% ทั้งปี 2566 คาด 2.7% ปี 2567 คาด 3.2% ส่วนปี 2565 ขยายตัว 2.6%
 

 

ทั้งนี้ ระยะ 20 ปี เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ย 3.2% 

2546-2550 ขยายตัวเฉลี่ย 5.6%

2551-2555 ขยายตัวเฉลี่ย 3.3%

2556-2560 ขยายตัวเฉลี่ย 1.9%

2561-2565 ขยายตัวเฉลี่ย 0.9% 

 

”ก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวได้ 7-8% ต่อปี ฉะนั้น ถ้าจะเติบโตได้ในระดับนั้น ก็นับเป็นความท้าทาย“

 

3.การลงทุนที่ลดบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540-2541 สัดส่วนการลงทุนรวมของภาครัฐ และเอกชนต่ำกว่า 25% ของ GDP มายาวนานถึง 25 ปี ปัจจุบันปี 2565 มูลค่าการลงทุนที่ขจัดผลของเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่งกลับมา ใกล้เคียงระดับเดิมเมื่อ 25 ปีที่แล้วที่ 2.7 ล้านล้านบาท

 

4.โครงสร้างประชากรไม่เอื้อต่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยจำนวนคนสูงอายุ 12.8 ล้านคน หรือ 19.4% ของประชากร ถ้าแตะ 20% จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตามนิยาม UN ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกล่าวคือ 5 ปี เพิ่มขึ้น 26% สวนทางกับเด็กเกิดใหม่เหลือ 5 แสนคน ซึ่งลดลงเร็วเช่นกัน หรือ  5 ปี ลดลง 25% อนาคตอาจจะขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และบริการ และฐานภาษีในเชิงจำนวนคนลดลงเพราะมีคนทำงานน้อยลง

 

“คนแก่เยอะ คนเกิดใหม่น้อย ท้าทายตลาดแรงงาน ถ้าเราอยู่กับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เราจะก้าวข้ามความท้าทายนี้ได้อย่างไร แต่ก็เป็นโอกาสที่เราจะก้าวข้ามความท้าทายไปสู่ตลาดแรงงานที่ใช้ดิจิทัลมากขึ้น”

 

5.หนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังฉุดรั้งการบริโภค โดยหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 90.7% ต่อ GDP สูงทะลุ 80% ต่อ GDP มาแล้ว 10 ปี ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะครัวเรือนฐานราก โดยระดับที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ BIS ไม่ควรเกิน 80% เพราะถ้าเกินจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว จากผลการสำรวจพบว่า จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงเหลือ 48.5% แต่มูลค่าหนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 2.08 แสนบาท/ครัวเรือน

 

”หนี้ครัวเรือนที่ไม่กระทบเสถียรภาพควรอยู่ที่ 80% แต่ต้องดูไส้ในว่า หนี้ครัวเรือนเป็นหนี้อะไร เท่าที่ดูในโครงสร้างไม่มีอันตราย เพราะ 50% ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น หนี้บ้าน รถ ไม่ใช่บัตรเครดิต แต่ต้องหาวิธีรับมือจริงจัง โดยรัฐบาลกำลังจะหาแนวทางแก้ไขทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ ถ้าเราแก้ได้ หนี้จะลดลง เราต้องก้าวความท้าทายนี้ให้ได้”

 

 

ในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคนั้น ถือว่า แข็งแกร่ง เป็นประเด็นที่ต่างชาติให้ความสำคัญ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองรับการนำเข้าได้ 7 เดือน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อต่ำ 1.6% อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่วนอัตราการว่างงานต่ำ 1%

 

ด้านฐานะการคลังก็มีมั่นคง โดยรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.66 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.1 แสนล้านบาท หรือ 4.5% ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ส่งผลเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 5.39 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2566 อยู่ที่ 62.14%ต่อ GDP อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขณะที่ หลายประเทศหนี้สาธารณะอยู่ในระดับเกิน 100%

 

เสถียรภาพการเงินก็ไร้กังวล โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 19.9% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 8.5% หนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับต่ำที่ 2.7%

 

สำหรับขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นแบบหน้ากระดาน โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ที่ 30 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับจากช่วงCOVID-19 โดยเพิ่มขึ้นทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น 18 อันดับ ประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ ประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ และโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 1 อันดับ เป็นข้อเท็จจริงที่ต่างชาติมอง

 

รัฐบาลต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพ โดยในระยะสั้น หลังงบประมาณแล้วเสร็จ ต้องเร่งเบิกจ่ายอัดฉีดเศรษฐกิจในระยะยาว ต้องขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว 4-5% อย่างต่อเนื่อง และทั่วถึง เพื่อให้ประเทศไทยรายได้สูง และไม่ลืมฐานราก ขณะเดียวกัน ต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ มหภาค การคลัง และการเงิน

 

นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องปลุกยักษ์หลับให้กลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การยกระดับ Potential Growth ให้สูงกว่า 3.5% และให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึง Inclusive Growth และปิดช่องว่างการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยต้องก้าวสู่อนาคตที่มีศักยภาพ และมั่นคงกว่าเดิม โดยไม่ละเลยการลงทุนเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย การเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ให้เสร็จตามแผนในเดือนเมษายน 2567 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี 2567 ใช้อีอีซีเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน

 

ที่ผ่านมา เรามองหลายประเทศเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่วันนี้ ประเทศเหล่านั้น ก็กำลังมีปัญหา และมีข้อจำกัด ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องอาศัยจังหวะนี้ในการเชิญชวนนักลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีเองก็ได้เดินสายในการดึงดูดนักลงทุนดังกล่าว

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.