“แอปพลิเคชันคันนา” บริหารแปลงเกษตร หนุนการปลูกเปียกสลับแห้ง

บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VARUNA ผู้นำในการขับเคลื่อนคาร์บอนอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม หนึ่งหน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV เดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรไทยหันมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง โดยการนำนวัตกรรม “แอปพลิเคชันคันนา” (KANNA) ผู้ช่วยประจำแปลงเพื่อเกษตรกรไทย มาช่วยบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร โดยนำร่องจัดงานเปิดตัว “ปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง สร้างคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้” อย่างเป็นทางการ ที่ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยผู้ปลูกข้าวหันมาทำนาแบบรักษ์โลก โดยลดการใช้น้ำลงได้ 50% ลดต้นทุนการเพาะปลูก 8 – 13 % และลดก๊าซมีเทน 80%

 

นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน โดยประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียนที่ได้ประกาศเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนคิดเป็นอันดับที่ 19 ของโลก 

ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรมมีกิจกรรมบางส่วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่พบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 50.58% ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน ที่เกิดจากกระบวนการทำนาที่ขังน้ำไว้ ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่เกิดจากการใส่ไนโตรเจนในปริมาณมากเกินความต้องการของพืช ดังนั้น การผลักดันให้พื้นที่เกษตรเป็นแหล่งลดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะมีศักยภาพเชิงต้นทุนแล้ว ยังมีแนวโน้มช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวได้ด้วย

นโยบายภาครัฐของไทยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร 1 ล้านตัน แนวทางดังกล่าวถือเป็นอานิสงส์ให้ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งหน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนคาร์บอนอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม จัดทำ “โครงการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง สร้างคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้” ขึ้น ผ่าน “แอปพลิเคชันคันนา” (KANNA) เพื่อช่วยบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร มีฟีเจอร์การใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูกจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์รายวันและรายชั่วโมง โรคและแมลง คาดการณ์ผลผลิต จนถึงการเก็บเกี่ยว 

โดยโครงการนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเปลี่ยนวิธีทำนาข้าวแบบดั้งเดิม ที่หนึ่งฤดูกาลเพาะปลูกมีการใช้น้ำ 700 – 1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ มาเป็นการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง โดยการใช้ท่อ PVC ขนาด 25 เซนติเมตร เจาะรูและฝังลงในนา เพื่อวัดระดับน้ำและดูการใช้น้ำ สามารถลดการใช้น้ำลงได้ 50% ลดต้นทุนการเพาะปลูก 8 – 13% และลดก๊าซมีเทน 80%  

นางสาวพณัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า คันนายังเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้เกษตรกรไทย มีความมั่นใจกับการทำการเกษตรมากขึ้น เพราะในอดีตการทำนาเป็นการพึ่งพาศาสตร์แบบดั้งเดิม พร้อมทั้งต้องคาดเดาจากสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความไม่แน่นอน แอปฯ ดังกล่าวจึงเป็นเสมือนผู้ช่วยประจำแปลงที่คอยช่วยตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และช่วยจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรรู้จักปรับตัวใช้เทคโนโลยี รวมถึงรับรู้ถึงปัญหาจากการตีความข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้

นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักกับการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย โดยในประเทศไทยเริ่มมีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2557 ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ หรือที่เรียกว่า เครดิต T-VERs (Thailand Voluntary Emission) แม้ปัจจุบันการซื้อขายเครดิต TVERs ยังมีไม่มากนัก แต่ในอนาคตจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีการคาดการณ์ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตของไทย ตั้งแต่ปี 2563 – 2573 คาดว่าจะสูงถึงราว 1,600 ล้านตัน tCO2e

โดยวรุณามีเป้าหมายในการส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งครอบคลุม 15 จังหวัด พื้นที่ 1 ล้านไร่ภายในปี 2573

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.