SCGD เคาะช่วงราคาขายไอพีโอสุดท้าย 11.20 -11.50 บาท จ่อเทรด SET ปลาย ธ.ค.นี้
นายสรวิศ ไกรฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ สานฃยงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยว่า SCGD ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนสุดท้ายของ SCGD คือ 11.20-11.50 บาทต่อหุ้น (ช่วงราคาเสนอขายสุดท้าย)
พร้อมกำหนดช่วงอัตราแลกหุ้นสุดท้ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ COTTO อยู่ในช่วงระหว่างหุ้นสามัญของ COTTO จำนวน 4.6667-4.7917 หุ้น (มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท) ต่อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCGD จํานวน 1 หุ้น (มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10.00 บาท) ซึ่งคำนวณจากช่วงราคาเสนอขายสุดท้าย คือ 11.20-11.50 บาทต่อหุ้น หารด้วยราคาเสนอซื้อหุ้น COTTO ซึ่งเท่ากับ 2.40 บาทต่อหุ้น
โดยในวันที่ 21 พ.ย.2566 SCGD ได้ยื่นแบบแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อมูลในคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ (แบบ 247-6-ก) ต่อสํานักงาน
คณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยประกาศให้ระยะเวลารับซื้อหลักทรัพย์ของ COTTO ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566- 6 ธ.ค.2566 เป็นระยะเวลารับซื้อสุดท้ายที่จะไม่ขยายอีก (final period)
ทั้งนี้ SCGD จะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC และผู้ถือหุ้นของบริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ที่ได้รับสิทธิ เริ่มทำการจองซื้อหุ้น IPO ของ SCGD ในวันที่ 29 พ.ย.-6 ธ.ค.2566 ที่ราคา 11.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย IPO สุดท้าย จากนั้นในวันที่ 6 ธ.ค.2566 จะมีการประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย ก่อนให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 8 ธ.ค. และ 12-13 ธ.ค.2566 โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.2566
ส่วนสภาวะตลาดหุ้นที่มีความผันผวนในช่วงนี้ รวมไปถึงไอพีโอต่ำจองในช่วงก่อนหน้านี้จะส่งผลกระทบต่อการเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ SCGD หรือไม่นั้น นายสรวิศ กล่าวว่า ไม่ได้มีความเป็นห่วงในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากวิธีการกระจายหุ้นของ SCGD สะท้อนการปรับโครงสร้าง โดยสัดส่วน 85-90% เสนอขายให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีความเชื่อมั่นในบริษัท ขณะที่หุ้นที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย มีสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้น ประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว มองว่าในอนาคตผลการดำเนินงานจะกลับมาเติบโต
SCGD ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งรวมถึงการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ COTTO เพื่อแลกหุ้นและเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป ไม่เกิน 439,100,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.61% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท
นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD กล่าวว่า ภายหลังปรับโครงสร้างและเสนอขาย IPO แล้วเสร็จ SCGD จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีผลให้ผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์กลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCGD
สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ชำระเงินกู้ การควบรวมกิจการในอนาคต เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับโครงสร้างเงินทุน
ปัจจุบัน SCGD เป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยมียอดขายกระเบื้องเซรามิกอันดับ 1 ในไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมถึงมียอดขายสุขภัณฑ์อันดับ 1 ในไทย และมีแบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค
โดยมีธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) ประกอบด้วย กระเบื้องปูพื้น บุผนัง กระเบื้องไวนิล SPC และกระเบื้องไวนิล LVT (Luxury Vinyl Tile) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กาวซีเมนต์ กาวยาแนว เป็นต้น และธุรกิจสุขภัณฑ์ ได้แก่ สุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์ห้องน้ำ มีฐานการผลิตในประเทศ ไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ และช่องทางจัดจำหน่ายหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงส่งออกสินค้ากว่า 57 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, เยเมน ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, กัมพูชา เป็นต้น
ทั้งนี้ SCGD มีความมั่นใจและมีความพร้อมเต็มที่ในการขยายธุรกิจเชิงรุกสู่ภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดรวมวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์สูงถึงประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท
โดยมีแผนที่จะเติบโตจากการขยายธุรกิจจากประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะธุรกิจสุขภัณฑ์ซึ่งบริษัทมียอดขายสุขภัณฑ์อันดับ 1 ในไทยและเป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี รวมถึงต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวด้วยการขยายตลาดกระเบื้องไวนิล SPC และ LVT ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
“บริษัทได้ลงทุนสายการผลิตกระเบื้องไวนิล Stone Plastic Composite (SPC) มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่โรงงานหินกอง สระบุรี ใช้งบลงทุน 138 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2567 เพื่อเตรียมขยายตลาดทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งเตรียมลงทุนขยายกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนรวม 6.6 ล้านตารางเมตรต่อปีในพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม โดยเป็นกำลังการผลิตใหม่ 1.65 ล้านตารางเมตรต่อปี และทดแทนกำลังการผลิตเดิมอีก 4.95 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2568” นายนำพล กล่าว
ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 3/2566 บริษัทได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่ที่โรงงาน Dai Loc ในเวียดนาม มีกำลังการผลิตกระเบื้องเซมิ-เกลซ พอร์ซเลน (Semi- Glazed Porcelain) และกระเบื้องขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนามเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่ที่โรงงานหนองแค สระบุรี เพื่อผลิตกระเบื้องขนาด 60x60 เซนติเมตร มีกำลังการผลิต 4.32 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นเนื่องจากเป็นขนาดที่นิยมในตลาด
ทางด้านกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ได้แก่ 1.ขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์ Bathroom เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน 2.ต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในประเทศไทย และมุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในภูมิภาคอาเซียน 3.ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจรในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์
4.บริหารห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านการผลิต และการจัดหาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้และศักยภาพในการทำกำไร และ 5.เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานระดับโลก
นายสมิทธิ โกสีย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563-565 บริษัทมีรายได้จากการขาย 24,378.6 ล้านบาท 25,937.4 ล้านบาท และ 30,253.8 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,235.9 ล้านบาท 1,401.9 ล้านบาท และ 1,320.1 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก ปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขาย 21,522 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจตกแต่งพื้นผิว 77% และสุขภัณฑ์ 18% ส่วนที่เหลืออีก 5% มาจากธุรกิจอื่นๆ และมีกำไรสุทธิ 760 ล้านบาท (หลังปรับปรุงรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำ) ชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ที่ลดลงของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในเวียดนามซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายในไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 7,186 ล้านบาท และกำไรสุทธิเท่ากับ 280 ล้านบาท (หลังปรับปรุงรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำ) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและตลาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีหน้า
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.