GULF ไตรมาส 4/66 โตต่อ หลังอวดกำไร Q3 พุ่ง 94%
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2566 โดยมีรายได้รวม (Total Revenue) อยู่ที่ 30,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จาก 24,275 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) สำหรับไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 4,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% จาก 2,167 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
การเติบโตดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม IPD ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยที่ 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับโรงไฟฟ้า SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP และโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาค่าก๊าซเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลง โดยราคาค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 579.13 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 3/2565 เป็น 363.24 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.48 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 3/2565 เป็น 0.68 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 3/2566
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้า IPP ได้แก่ โรงไฟฟ้า GNS GUT และ GSRC มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เพิ่มขึ้น โดยโรงไฟฟ้า GNS และ GUT ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม GJP มี Load Factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 8% ในไตรมาส 3/2565 เป็น 21% ในไตรมาส 3/2566 ในขณะที่โรงไฟฟ้า GSRC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม IPD มี Load Factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 21% ในไตรมาส 3/2565 เป็น 79% ในไตรมาส 3/2566 นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศยังมีผลประกอบการที่ดีขึ้น เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ในประเทศโอมาน ได้มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นจาก 52 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 3/2565 เป็น 326 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ GULF สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จำนวน 174 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 306% YoY และรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้า Jackson Generation ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 150 ล้านบาทในไตรมาส 3/2566 โดย GULF ได้เข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในไตรมาส 3/2566 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation จำนวน 235 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205% YoY จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 3/2565 เป็น 5.5 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกชดเชยบางส่วนจากส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ที่ประเทศเยอรมนี เนื่องจาก GULF ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการนี้จาก 50.00% เหลือ 24.99% โดยจำหน่ายหุ้นในสัดส่วน 25.01% ให้กับ Keppel Group ในเดือนธันวาคม 2565
นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/2566 GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก PTTNGD จำนวน 259 ล้านบาท ซึ่งพลิกจากขาดทุน 221 ล้านบาทในไตรมาส 3/2565 โดยมีสาเหตุมาจากอัตรากำไรขั้นต้นต่อหน่วยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันเตาที่สูงขึ้นและค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลงในไตรมาสนี้ ซึ่งรายได้ของโครงการดังกล่าวจะผูกกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาค่าก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว (Thai Tank Terminal) จำนวน 65 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ โดย GULF ได้เข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ในส่วนของการลงทุนใน INTUCH นั้น บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จำนวน 1,527 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2566 หรือเพิ่มขึ้น 37% YoY จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ AIS และกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดในสัดส่วน 33.33% ในบริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ จำกัด
ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 9,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับ 6,660 ล้านบาทในไตรมาส 3/2565 และกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 3/2566 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 3,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 209% จาก 1,087 ล้านบาทในไตรมาส 3/2565 ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจาก 35.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 เป็น 36.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด
ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 GULF มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 476,710 ล้านบาท หนี้สินรวมเท่ากับ 332,454 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 144,256 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 1.70 เท่า ลดลงจาก 1.76 เท่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งการลดลงดังกล่าวมาจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/2566 คาดว่ายังคงเติบโตตามเป้า แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดย ณ อัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าว กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ของ GULF ยังสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีกว่าในปี 2565 เนื่องจากราคาก๊าซเฉลี่ยทั้งปีในปี 2566 ต่ำกว่าปี 2565 และค่า Ft เฉลี่ยปี 2566 ที่สูงกว่าในปี 2565 อีกทั้ง สัดส่วนของปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมมีเพียง 8% ของปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งหมด GULF จึงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2566 โครงการต่าง ๆ ยังคงดำเนินไปตามแผน โดยโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 662.5 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ในขณะที่ โครงการ Solar Rooftop ภายใต้ GULF1 มีแผนที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ให้ครบ 150 - 180 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ ประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม BKR2 ที่ประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ช่วง High Season ในไตรมาส 4
ขณะที่ แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้โครงการ Jackson Generation ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกามีผลกำไรที่ดีขึ้น สำหรับธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยภายใต้ Gulf Binance นั้น มีกำหนดเปิดให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะผลักดันให้กำไรของกลุ่ม GULF ในปี 2566 เป็นไปตามเป้าหมาย
GULF ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2578 โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา GULF ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms With Battery Energy Storage Systems) จำนวนรวม 12 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 649 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567 – 2568
อีกทั้ง GULF ยังได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นเวลา 20 ปี เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 โครงการมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 หลังจากนี้ GULF คาดว่าจะทยอยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่กลุ่ม GULF ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการจากการประมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อีกมากกว่า 700 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ GULF ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่โครงการหลวงพระบาง โครงการปากลาย และโครงการปากแบ่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,142 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2573 ปี 2575 และปี 2576 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 โครงการจะผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 29 - 35 ปี ทั้งนี้ GULF เชื่อมั่นว่าแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนของบริษัทและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจะสามารถทำให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในระยะยาว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.