“สมภพ” บอร์ดกสทช.ปั้นโมเดลแบ่งคลื่น 3500 MHz ประมูลปลายปี 67

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ตนเองและทีมงานกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำคลื่น 3500 MHz จำนวน 100 MHz ช่วงคลื่น 3600 MHz-3700 MHz จากคลื่นทั้งหมดที่มีประมาณ 400 MHz เพื่อนำมาให้กลุ่มอุตสาหกรรมประมูลทำไพรเวท 5G

หากผลการศึกษาพบว่ามีความต้องการของตลาดและมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลก็จะส่งผลการศึกษาและผลการหารือกับภาคส่วนต่างๆให้สำนักงานกสทช.ศึกษาถึงแนวทางในการประมูลอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสนอบอร์ดกสทช.พิจารณา หากมีความเห็นชอบร่วมกัน คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567-ต้นปี 2568 

สำหรับสาเหตุที่ตนเองต้องการนำคลื่นดังกล่าวแบ่งมาให้ภาคอุตสาหกรรมประมูล เนื่องจากที่ผ่านมาการให้บริการ 5G ในภาคอุตสาหกรรมผ่านโอเปอเรเตอร์ มีราคาแพงเหตุจากค่าประมูลที่สูง ขณะที่การให้งบประมาณในการสร้างยูสเคส 5G ของกสทช.พบว่าส่วนใหญ่เป็นเหมือนโชว์เคสมากกว่า สิ่งที่กสทช.ใช้งบประมาณหลาย 100 ล้านบาท ผ่านการให้ทุนมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ได้เกิดการใช้งานจริง ตนเองจึงให้นโยบายกับสำนักงานกสทช.ว่าต่อไปเมื่อมีการของบประมาณในรูปแบบนี้อีกขอให้ใช้สำนักงานพิจารณาเฉพาะโครงการใหญ่เพียง 2 โครงการ และให้เกิดประสิทธิภาพเป็นยูสเคส 5G อย่างแท้จริง

นอกจากนี้จากการพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆได้รับเสียงสะท้อนว่าบริษัทต่างชาติต้องการมาลงทุนกับโรงงานที่มีระบบ 5G แต่ไม่สามารถลงทุนเองได้ ซึ่งหากบริษัทอุตสาหกรรมสนใจลงทุนทำระบบเอง คาดว่าใช้เงินลงทุนเพียง 1 แสนบาทต่อ 1 สถานีฐาน ก็สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายได้

คลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นที่เหมาะสมในการทำ 5G ในหลายประเทศก็ใช้คลื่นนี้ทำ 5G และระบบนิเวศน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครือข่าย หรือ อุปกรณ์รองรับการใช้งานก็มีใช้งานอย่างแพร่หลาย

ดังนั้นรูปแบบการประมูลไพรเวท 5G ครั้งนี้ จึงไม่ควรมีราคาแพง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่เปิดประมูลคลื่นในราคาแพงที่สุด แต่จะไม่ประมูลเลยก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุชัดว่าต้องจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูล เท่านั้น ส่วนรูปแบบการประมูลยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นรูปแบบไหน อาจจะเป็นการประมูลแบบแบ่งส่วนแบ่งรายได้ หรือ รูปแบบอื่น รวมถึงจำนวนใบอนุญาตและปริมาณของแต่ละใบอนุญาตก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปในขณะนี้

นายสมภพ กล่าวว่า ล่าสุด ตนเองได้หารือกับเอกชนผู้ให้บริการเน็ตเวิร์กและวางระบบโทรคมนาคม 3 ราย คือ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ ยูไอเอช ,บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) พบว่ามีความสนใจ หากราคาประมูลไม่แพง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสามารถจับคู่กับโอเปอเรเตอร์ หรือ นิคมอุตสาหกรรมมาประมูลใบอนุญาตได้ แต่ไม่สามารถใช้งานสื่อสารในวงกว้างได้แบบโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ โดยหลังจากนี้ตนเองและทีมงานจะเดินหน้าหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดถึงความต้องการในการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโมเดลนี้ ตนเองต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ เข้ามาประมูล แต่ก็ยอมรับว่าไม่อาจปิดกั้นรายใหญ่ได้ วัตถุประสงค์ของการการแบ่งคลื่นมาประมูลก่อนเพื่อต้องการให้เกิดไพรเวท 5G ในภาคอุตสาหกรรมเร็วขึ้น

ส่วนการประมูลอีก 300 MHz ที่เหลือนั้น คาดว่าโอเปอเรเตอร์รายใหญ่น่าจะมีความพร้อมช่วงปี 2569 เมื่อภาระการจ่ายค่าประมูลลดลง และ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ไม่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการแล้ว ก็อาจจะสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่น 3500 MHz 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.