เป้าหมาย EV30@30 และจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทย

 

เพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก นโยบาย EV30@30 มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศอย่างน้อย 30% ของสัดส่วนการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปอาจเผชิญความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงาน ระบบห่วงโซ่อุปทาน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ทางภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมาย EV30@30 ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่ออุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปในปัจจุบัน

 

คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (หรือบอร์ด EV) ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย EV30@30 ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษทางอากาศเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของสัดส่วนการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) โดยคาดการณ์การผลิตของรถยนต์ EV อยู่ที่ประมาณ 725,000 คัน/ปี ภายในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

 

ภายใต้นโยบายนี้มีภาคส่วนที่สำคัญ 3 กระทรวงหลักๆที่เข้ามากำกับดูแล คือ กระทรวงพลังงาน (รับผิดชอบด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะและแบตเตอรี่ EV), กระทรวงอุตสาหกรรม (ให้การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิต EV และชิ้นส่วนรถยนต์) และกระทรวงการคลัง (สนับสนุนด้านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เป็นที่แน่นอนว่าจะนำไปสู่การพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ การเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์ EV อาจสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสัดส่วนการผลิตรถยนต์สันดาปอย่างแน่นอน ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตต่อผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ชนิดสันดาป ว่ามีภาคส่วนไหนบ้างที่อาจได้รับผลกระทบ และภาคส่วนไหนที่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสอดรับกับนโยบาย EV30@30 ของภาครัฐ

 

• ผลกระทบด้านตลาดแรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ชนิดสันดาปที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออกมากกว่า 1 ล้านคันต่อปี อาจได้รับผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตรถยนต์สันดาปจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้รถยนต์ EV ทั่วโลก แรงงานจำนวนมากอาจพบความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ หรือแรงงานที่ไม่ได้รับการ Retraining หรือ Reskilling เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์แบบใหม่ เนื่องจากรถยนต์ EV ต้องการแรงงานภาคการผลิตน้อยกว่ารถยนต์สันดาปถึง 30% รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Automation ที่เข้ามาแทนที่แรงงานภาคการผลิตอีกเช่นกัน

 

• ผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปในไทย เนื่องจากรถยนต์ EV มีจำนวนชิ้นส่วนประกอบรถยนต์น้อยกว่ารถยนต์สันดาปอย่างมาก รวมไปถึงธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือ 2 และอู่ซ่อมรถยนต์ที่ต้องปรับตัว เป็นต้น

 

• ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นต่อความมั่นคงในอาชีพ (Job Uncertainty) อาจสร้างความไม่แน่นอนในเส้นทางอาชีพของแรงงาน (Career Path) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ EV มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การปิดตัวลงอย่างกะทันหันของโรงงานผลิตรถยนต์สันดาปในประเทศ อาจสร้างความวิตกกังวลต่อความมั่นคงในอาชีพของลูกจ้าง (Job Security) สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้ ยกตัวอย่างประเทศที่เป็นเจ้าแห่งการผลิตรถยนต์คือ ญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นเองก็ได้ประสบปัญหาด้านนี้อยู่เช่นกัน อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และอาจส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานหลายล้านคนของญี่ปุ่นเช่นกัน นอกจากนั้น บริษัทค่ายรถญี่ปุ่นหลายๆค่ายกำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้านจากจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน รถค่ายญี่ปุ่นบางค่ายจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต ลดตัวแทนจำหน่าย หรือเลิกจ้างพนักงาน ในประเทศที่มีความต้องการรถยนต์ EV สูง เช่น ประเทศจีน เป็นต้น


 

โดยสรุปแล้ว การสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV เพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) เราไม่สามารถปฏิเสธ Disruption ของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์สันดาปได้

 

เพื่อเผชิญความท้าทายนี้ ทางภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมาย EV30@30 ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อภาคแรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง


กล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการ Transition ไปสู่ EV ไม่ได้เกิดจาก Market-Driven แต่เกิดจาก Government-Policy Driven เป็นหลัก ทางภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายนี้ ประเทศไทยสามารถนำแบบอย่างการสนับสนุนจากภาครัฐในประเทศต่างๆมาปรับใช้กับไทย ขอยกตัวอย่างประเทศในแถบยุโรปที่มีมาตรการที่เข้มงวดในเรื่อง Climate Change กว่าไทยมาก ทางภาครัฐได้ส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชนเพื่อสร้างโรงงานผลิตและบำรุงรักษาแบตเตอรี่ EV ให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและรองรับตลาดแรงงานผลิตรถยนต์สันดาปที่อาจถูกเลิกจ้างในอนาคต การลงทุนเม็ดเงินขนาดใหญ่ไปกับการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) เทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ เช่น Public Lamppost Charge Points By Ubitricity, United Kingdom (การชาร์จรถ EVจากเสาไฟฟ้าสาธารณะ), EV Wireless Charging Road System (การชาร์จรถ EV แบบไร้สายในขณะขับรถบนถนนด้วยเทคโนโลยีแม่เหล็กเหนี่ยวนำ), หรือ Renewable Energy EV Charging Station Projects (การชาร์จรถยนต์ EV จากแหล่งพลังงานทดแทนเช่น Solar Panels) เป็นต้น อีกสิ่งที่สำคัญ ทางภาครัฐควรให้การสนับสนุนภาคแรงงานด้วยการ Up-Skill หรือ Re-skill แรงงานผลิตรถยนต์อย่างเร่งด่วนและเท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ EV ที่มากขึ้นในอนาคต

 

ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล

ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.