Scoop : 5 เหตุการณ์สำคัญในความทรงจำ "เอเชียนเกมส์"
นับตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 1951 จนถึงการแข่งขันครั้งล่าสุดในปี 2018 นั้นต่างก็มีเหตุการณ์แห่งความทรงจำเกิดขึ้นมากมายหลายเหตุการณ์ มีทั้งเรื่องราวที่น่าประทับใจหรือเรื่องราวที่แสดงถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในเกมการแข่งขัน หรือความทรงจำแห่งการสูญเสียที่กลายเป็นบทเรียนเตือนใจให้กับนักกีฬา เจ้าหน้าที่เทคนิค หรือฝ่ายจัดการแข่งขัน ให้มีความระมัดระวังรอบคอบมากยิ่งขึ้นเพื่อหลักเลี่ยงการสูญเสียในอนาคต
สำหรับเรื่องราว “5 เหตุการณ์แห่งความทรงจำในเอเชียนเกมส์” นั้น ผมได้คัดเอาทั้งเรื่องที่ดีน่าประทับใจ เรื่องราวที่ก่อให้เกิดสันติภาพและความสำเร็จในเกมการแข่งขันไปจนถึงเรื่องราวที่เป็นบทเรียนแห่งความสูญเสียเพื่อเป็นการระลึกถึงและย้ำเตือนทุกฝ่ายไม่ให้เกิดความประมาทอันจะทำให้เกิดความทรงจำที่อยากจะลืมเลือนอีกเรื่องทั้งหมดจะมีอะไรบ้างทุกท่านสามารถติดตามได้จากบทความนี้ครับ
การกลับมาอีกครั้งของทีมชาติอิรัก ความทรงจำเรื่องการเมืองที่ส่งผลถึงกีฬา
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากีฬากับการเมืองนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับต่างๆ ก็มักจะมีคู่ขัดแย้งทางการเมืองเข้าร่วมการแข่งขันด้วยกันเสมอ อย่างในกีฬาเอเชียนเกมส์ก็เคยมีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นกัน
โดยผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบในเรื่องราวนี้ก็คือนักกีฬาทีมชาติอิรัก เมื่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียตัดสินใจแบนทีมชาติอิรักออกจากการณ์แข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามอ่าวที่มีผู้เสียชีวิตมากมาย
ทีมชาติอิรักต้องห่างหายไปจากกีฬาเอเชียนเกมส์อย่างยาวนานจนสามารถกลับมาเข้าร่วมอีกครั้งในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญเงินกับอีก 1 เหรียญทองแดงจากการแข่งขันยกน้ำหนักและฟุตบอลชาย
โดย “ฮารีม อาลี” คือนักกีฬาคนแรกในรอบ 20 ปีที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลกีฬาเอเชียนเกมส์ให้กับประเทศอิรักได้ เจ้าตัวได้เหรียญทองแดงจากการแข่งขันยกน้ำหนักชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 77 กิโลกรัม จากนั้นก็เป็น “มูฮัมหมัด อัลจูอีฟรี่” ที่คว้าเหรียญเงินได้จากการแข่งขันยกน้ำหนักชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 105 กิโลกรัม
ส่วนทีมฟุตบอลชายของอิรักก็สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ก่อนจะพ่ายแพ้ให้แก่ทีมชาติกาตาร์เจ้าภาพไป 0-1 แม้จะเป็นเหรียญเงินแต่ก็เป็นเหรียญจากกีฬายอดนิยม เป็นอีกความทรงจำที่ดีหลังจากที่ประเทศอิรักได้กลับเข้ามาร่วมการแข่งขันอีกหลังจากที่การเมืองและสงครามได้ทำให้พวกเขาต้องหายหน้าไป
ต้อนรับอดีตสหภาพโซเวียตสู่เอเชียนเกมส์
การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 นั้นจัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของชาวเอเชียนี้จัดขึ้นนอกเมืองหลวงของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งฝ่ายจัดการแข่งขันฮิโรชิม่าเกมส์ก็สามารถทำได้ออกมาดีจนกลายเป็นต้นแบบของการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์นอกเมืองหลวงของประเทศอื่นอย่างเกาหลีใต้และจีนในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตามในการแข่งขันแข่งขันฮิโรชิม่าเกมส์นั้นก็มีเหตุการณ์แห่งความทรงจำขึ้นเมื่อการแข่งขันในครั้งนั้นได้มีโอกาสต้อนรับสมาชิกใหม่ที่แยกตัวออกมาจากสภาพโซเวียตอย่าง คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน นับเป็นเหตุการณ์แห่งความทรงจำหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของกีฬาเอเชียนเกมส์ และการเข้าร่วมของประเทศเหล่านี้ก็สามารถยกระดับวงการกีฬาของทวีปเอเชียได้เป็นอย่างดีและทำให้กีฬาหลายประเภทมีสีสันมากขึ้นอย่างเช่นกรีฑา ยิมนาสติก ยิงปืน เรือพาย มวยสากลสมัครเล่น ฟันดาบ ฟุตบอล เป็นต้น
อย่างเช่นในการแข่งขันฟุตบอลชายในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นทีมชาติอุซเบกิสถานก็สามารถคว้าเหรียญทองไปครองได้อย่างยิ่งใหญ่และพลิกความคาดหมาย โดยทีมชาติอุซเบกิสถานชุดนั้นสามารถเอาชนะทีมชาติซาอุดิอาระเบียยอดทีมของเอเชียที่เพิ่งโชว์ฟอร์มเทพในฟุตบอลโลกปีนั้นไปได้ถึง 4-1 ในรอบแรก ขณะที่ในรอบรองชนะเลิศก็เอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ได้แบบเหลือเชื่อและสุดท้ายก็เอาชนะทีมชาติจีนครองเหรียญทองไปได้ในที่สุด
เหตุการณ์ที่เอเชียนเกมส์มี 5 ประเทศ (คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน) จากอดีตสภาพโซเวียตเข้ามาเป็นสมาชิกนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์แห่งความทรงจำของกีฬาเอเชียนเกมส์ครับ
“สาริตา เทวี” นักมวยอินเดียผู้ไม่ก้มหัวยอมรับความอยุติธรรม
ในการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะประเภทที่ต้องตัดสินกันด้วยสายตามักจะมีปัญหาเรื่องการตัดสินอยู่เสมอ หลายครั้งที่การตัดสินผิดพลาดหรือค้านสายตานั้นก็มักเกิดจากข้อจำกัดของกรรมการที่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ในบางเหตุกาณ์นั้นก็เกิดจากการอาศัยช่องโหว่ของกติกาการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกันเองโดยไม่สนใจสายตาผู้ชมหรือคนทั่วไปที่ติดตามหรือเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน
การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นนับว่ามีปัญหาการตัดสินเป็นอย่างมาก นักมวยหลายคนต้องพบกับความพ่ายแพ้ทั้งที่มันไม่ควรเป็นเช่นนั้นโดยเฉพาะหากต้องพบกับนักชกเจ้าภาพด้วยแล้วโอกาสเอาชนะแทบเป็นไปไม่ได้เลย ภาพการก้มหน้ายอมรับการตัดสินด้วยความจำยอมเพราะประท้วงไปก็ไม่เป็นผล เกิดขึ้นจนชินตาในการแข่งขันครั้งนั้นแต่นั่นไม่ใช่สำหรับ “สาริตา เทวี” นักมวยหญิงทีมชาติอินเดีย
“สาริตา เทวี” ลงแข่งขันมวยหญิงในรุ่นไลท์เวท น้ำหนักไม่เกิน 60 กิโลกรัม โดยเจ้าตัวนั้นมีดีกรีมามากมายทั้งการได้เหรียญทองและเหรียญทองแดงในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลก เป็นเจ้าของเหรียญทองมวยหญิงชิงแชมป์เอเชีย 5 สมัยกับรองแชมป์อีก 1 สมัย (นับเฉพาะช่วงก่อนการแข่งขันอินชอนเกมส์ 2014) และก่อนหน้าจะมาแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2014 “สาริตา เทวี” ก็เพิ่งคว้าเหรียญเงินในกีฬาเครือจักรภพหรือคอมมอนเวลธ์เกมส์มาครองได้ พูดกันง่ายๆ ก็คือเจ้าตัวคือตัวเต็งในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น
แต่เรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้นโดยในรอบรองชนะเลิศ “สาริตา เทวี” ต้องพ่ายแพ้ “ปาร์ค จีนา” นักกีฬาเจ้าภาพไปแบบค้านสายตา แม้จะทำการประท้วงแต่ก็ไม่เป็นผล “สาริตา เทวี” เสียใจเป็นอย่างมากจนถึงวันพิธีมอบเหรียญรางวัลเธอก็ไม่อาจทำใจยอมรับความอยุติธรรมครั้งนั้นได้ เจ้าตัวร่ำไห้บนโพเดียมและปฎิเสธการรับเหรียญทองแดงโดยการที่เธอเอาเหรียญทองแดงนั้นไปคล้องคอให้กับ “ปาร์ค จีนา” ที่ถูกเธอต่อยแทบจะฝ่ายเดียวในรอบรองชนะเลิศ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไอบาออกแถลงการณ์จะทำการลงโทษทางวินัยต่อ “สาริตา เทวี” แต่ในภายหลังต้องยกเลิกไปเพราะสภาโอลิมปิกเอเชียไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษดังกล่าว “สาริตา เทวี” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อการไม่ก้มหัวกับความอยุติธรรมในโลกของกีฬา
เกาหลีหนึ่งเดียว การเชื่อมสายสัมพันธ์ที่งดงามบนเวทีเอเชียนเกมส์
การแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 ปี 2018 ณ กรุงจาการ์ตาและเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย มีเหตุการณ์หนึ่งที่นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ตัดสินใจเดินลงสนามในพิธีเปิดการแข่งขันภายใต้ผืนธงคาบสมุทรเกาหลี หรือ Korea Unification และนอกจากนี้ทั้ง 2 ประเทศยังทำการส่งนักกีฬาจำนวน 60 คนจาก 3 ชนิดกีฬาได้แก่บาสเกตบอลหญิง เรือพาย และเรือมังกร ร่วมกันแข่งขันในนามทีมชาติเกาหลีอีกด้วย เท่ากับว่าในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 นั้นมีประเทศเกาหลีร่วมการแข่งขันกันถึง 3 ประเทศได้แก่เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้ และเกาหลี
แม้ว่าการเดินลงสนามในพิธีเปิดการแข่งขันภายใต้ธงคาบสมุทรเกาหลีจะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเอเชียนเกมส์ 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ว่าครั้งนี้มีการส่งนักกีฬาร่วมแข่งขันในนามทีมเดียวกันนับเป็นสัญญาณแห่งมิตรภาพที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ เพราะกีฬาจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในอนาคต
ในด้านผลการแข่งขันนั้นทีมรวมเกาหลีสามารถคว้าไปได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินกับอีก 2 เหรียญทองแดงโดยเหรียญทองได้จากการแข่งขันเรือมังกร ประเภททีมหญิง 500 เมตรที่สามารถเอาชนะทีมชาติจีนและทีมชาติไทยที่ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงตามลำดับไปได้แบบสนุก ส่วนเหรียญเงินทีมรวมเกาหลีได้มาจากการแข่งขันบาสเกตบอลทีมหญิงโดยในรอบควอเตอร์ไฟนอลนั้น ทีมรวมเกาหลีสามารถเอาชนะทีมชาติไทยไปได้จนทะลุไปถึงรอบชิงชนะเลิศและพ่ายให้กับทีมชาติจีนไปในที่สุด ส่วนอีก 2 เหรียญทองแดงก็มาจากการแข่งขันเรือมังกร
เหตุการณ์ของการแข่งขันกีฬาในนามทีมเกาหลีนั้นถือเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ดีของทั้งชาวเอเชียและผู้คนทั่วทุกมุมโลกที่ต้องการเห็นสันติภาพที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ
“คิม ฮยุง ชิล” ความสูญเสียที่ยากจะลืมเลือน
เหตุการณ์ความทรงของเอเชียนเกมส์เหตุการณ์สุดท้ายของบทความนี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่อาจไม่น่าจดจำเท่าใดนัก แต่ก็เพื่อเป็นการระลึกถึงนักกีฬาคนหนึ่งที่ตั้งใจรับใช้ทีมชาติของตนอย่างเต็มที่จนสุดท้ายแล้วเขาต้องจากโลกนี้ไปไม่มีวันกลับและนักกีฬาคนนั้นก็คือ “คิม ฮยุง ชิล” นักขี่ม้าทีมชาติเกาหลีใต้วัย 47 ปี
“คิม ฮยุง ชิล” เข้าร่วมการแข่งขันขี่ม้าประเภทครอสคันทรี ในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยในระหว่างที่เจ้าตัวทำการแข่งขันอยู่นั้นเกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก “คิม ฮยุง ชิล” และ “บุนดาเบิร์ก แบล็ก” ม้าคู่ใจ เกิดอุบัติเหตุพุ่งชนรั้วในการแข่งขันรอบที่ 8 จนทำให้นักขี่ม้าคุณพ่อลูก 2 ตกลงมาจากม้า ศรีษะกระแทกพื้นก่อนที่จะถูกสะโพกม้าทับจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
การเสียชีวิตของ “คิม ฮยุง ชิล” นำมาซึ่งการถกเถียงกันในเรื่องของสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักกีฬา นาย “คิม จุง อิล” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้ ต้องการให้ฝ่ายจัดการแข่งขันทำการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดความผิดพลาดจากอะไร เพื่อเป็นการถอดบทเรียนครั้งสำคัญและสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยของนักกีฬาทุกคน
เหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนี้จึงเป็นอีกความทรงจำที่ไม่ควรถูกลืมเลือน การทำหน้าที่เพื่อประเทศของ “คิม ฮยุง ชิล” ควรได้รับการกล่าวถึง และบทเรียนในครั้งนั้นควรได้รับการเรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต แม้เป็นความทรงจำที่ไม่อยากจดจำแต่เราก็ไม่ควรลืมเลือน
ทั้งหมดนี้คือ 5 เหตุการณ์แห่งความทรงจำในเอเชียนเกมส์ ที่มีครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวมิตรภาพที่สวยงาม การยอมรับเพื่อนใหม่มาช่วยกันยกระดับเอเชียนเกมส์ การไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรมและความทรงจำแห่งความสูญเสียที่ต้องถอดบทเรียนไปสู่อนาคต
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.