กรีฑา : กาลครั้งหนึ่งไทยเคยครองความยิ่งใหญ่ศึกระยะสั้นในเอเชียนเกมส์

กรีฑาเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ นอกจากจะเป็นกีฬาที่มีการชิงเหรียญรางวัลมากที่สุดแล้ว อีเวนต์ไฮไลท์อย่างการแข่งวิ่งระยะสั้น 100 ม., 200 ม., หรือ ผลัด 4x100 ม. ซึ่งตัดสินผลการแข่งขันกันด้วยการประลองความเร็ว เชือดเฉือนชัยชนะกันเพียงเสี้ยววินาที แม้จะใช้เวลาแข่งขันเพียงไม่กี่ลมหายใจ แต่ทำเอาบรรดากองเชียร์ได้ยืนลุ้นส่งเสียงเชียร์กันแบบก้นไม่ติดเก้าอี้ในทุก ๆ วินาทีนับตั้งแต่ออกจากจุดสตาร์ท

แล้วรู้หรือไม่ว่าในเอเชียนเกมส์นักกรีฑาของไทยก็เคยครองความยิ่งใหญ่ในการแข่งวิ่งระยะสั้นมาแล้ว แต่จะเป็นช่วงเวลาไหน เมื่อไหร่ มาย้อนความทรงจำไปค้นหาคำตอบพร้อมกันได้ที่นี่

พื้นฐานของกีฬา

ตามบันทึกกล่าวว่ากรีฑาถือกำเนิดขึ้นตั้งเมื่อประมาณ 776 ปีก่อนคริสตกาล โดยชาวกรีกสมัยโบราณ คิดค้นขึ้นเป็นกิจกรรมหลังทำพิธีบวงสรวงต่อเทพเจ้าที่สถิตอยู่บนเทือกเขาโอลิมปัสที่พวกเขาให้ความเคารพนับถือ ซึ่งภายหลังเสร็จพิธีจะต้องมีการเล่นกีฬา ณ ลานเชิงเขาโอลิมปัสเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองต่อเทพเจ้า

สำหรับกรีฑานั้นเป็นกีฬาที่ใช้ทักษะทางการเคลื่อนไหวพื้นฐานของร่างกายครบทุกด้าน ประกอบด้วย การวิ่ง เดิน กระโดด ทุ่ม พุ่งและขว้าง ตัดสินกันด้วยสถิติระยะหรือเวลา ขณะเดียวกันยังเป็นการฝึกพื้นฐานทางด้านร่างกายที่ทำให้มีสุขภาพที่ดี และยังสามารถนำไปต่อยอดในการทำกิจกรรมหรือฝึกฝนกีฬาชนิดอื่นได้อีกด้วย

ปัจจุบันการแข่งขันกรีฑาแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ประเภทลู่, ประเภทลาน, ประเภทถนน, ประเภทเดิน, ประเภทครอสคันทรี่ และประเภทรวมหรือทศกรีฑา

โดยกรีฑานั้นถูกบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์มาตั้งแต่ครั้งแรกในปี 1951 และถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 2 กีฬาบังคับที่เจ้าภาพจะต้องจัดการแข่งขันในเอเชียนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์

จีน-ญี่ปุ่น 2 ชาติผูกขาดเอเชียนเกมส์

มีเพียง 2 ชาติเท่านั้นที่ครองเจ้าเหรียญทองกรีฑาในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 18 ครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นญี่ปุ่นทำได้ 8 ครั้ง ส่วนอีก 10 ครั้งเป็นของจีน และเป็นการแบ่งช่วงเวลากันอย่างชัดเจน

สำหรับยุครุ่งเรืองของกรีฑาญี่ปุ่นเริ่มต้นตั้งแต่เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 1 ปี 1951 ที่อินเดีย จนถึงเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 7 ปี 1974 ที่อิหร่าน ซึ่งนักกีฬาจากแดนปลาดิบครองเจ้าเหรียญทอง 7 ครั้งติดต่อกัน นับแล้วเป็นระยะเวลายาวนานถึง 23 ปีที่ญี่ปุ่นผูกขาดครองความยิ่งใหญ่ ก่อนจะถูกโค่นลงได้โดยจีนที่ครองเจ้าเหรียญทองครั้งแรกได้ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ปี 1978 ที่กรุงเทพ โดยเป็นการปาดหน้าเอาชนะไปเพียง 2 เหรียญทองเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในอีก 4 ปีต่อมาที่กรุงนิวเดลี ญี่ปุ่นก็ทวงบัลลังก์กลับมาได้ แต่นั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้อยู่บนจุดสูงสุดของเอเชียนเกมส์ เพราะนับตั้งแต่เอเชียนเกมส์ 1986 ที่กรุงโซล จนถึงปี 2018 ที่จากาตาร์-ปาเลมบัง ทัพกรีฑาจากจีนจบด้วยตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง 9 สมัยติดต่อกัน รวมแล้วเป็น 10 สมัย โดยความสำเร็จของกรีฑาจีนส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากผลงานของนักกีฬาหญิง ที่แข็งแกร่งมาก ๆ ทั้งในประเภทลู่และประเภทลาน 

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากกรีฑาญี่ปุ่นจะดรอปลงไปแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่พัฒนาขึ้นมาเบียดแย่งเหรียญรางวัลกับจีน โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันตกและเอเชียกลางที่ยกระดับขึ้นมา มีทั้ง บาห์เรน ที่คว้ารองแชมป์ได้ถึง 3 จาก 4 หนหลังสุด โดยครั้งล่าสุดในปี 2018 ก็แพ้จีนไปเพียงแค่ 2 เหรียญทอง นอกจากนั้นยังมีอินเดียและคาซัคสถานที่เป็นผู้ท้าชิงในหลาย ๆ รายการ

1970-1978 ความยิ่งใหญ่ของลมกรดไทย

ถึงแม้ว่ากรีฑาไทยจะไม่เคยครองเจ้าเหรียญทองได้เลยสักครั้ง แต่ก็เคยมีช่วงเวลาที่เราได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ในอีเวนต์ที่เป็นไฮไลท์อย่างวิ่งระยะสั้น โดยเฉพาะอีเว้นท์ วิ่ง 4x100 ม. ชาย ที่ไทยคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 3 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 1970-1978 และยังเป็นชาติแรกที่คว้าเหรียญทองอีเวนต์นี้ได้ 3 สมัยติดต่อกัน ก่อนจะมาเสียแชมป์ให้กับจีนในปี 1982 

หลังจากนั้นทัพไต้ฝุ่นชายไทยก็ห่างหายจากความสำเร็จไปนานถึง 16 ปี ก่อนจะกลับมาเป็นผู้ท้าชิงและได้เหรียญเงินอีกครั้งในปี 1998 ที่กรุงเทพ โดยแพ้ให้กับญี่ปุ่น 4 ปีต่อมาที่ปูซาน ทีมไต้ฝุ่นไทยก็ทวงความยิ่งใหญ่กลับคืนมาได้สำเร็จ หลังเบียดเอาชนะญี่ปุ่นคว้าเหรียญทอง 4x100 ม.ชาย ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ก่อนจะป้องกันแชมป์ได้ที่โดฮา ซึ่งเป็นการย้ำแค้นเอาชนะญี่ปุ่นไปได้แบบสุดมันส์อีกครั้ง

ส่วนไต้ฝุ่นสาวไทยก็เคยคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2 สมัย ในปี 1978 ทีม 4x100 ม. สาวไทยล้มญี่ปุ่นแชมป์ 3 สมัยรวดในตอนนั้นลงได้ พร้อมกับคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรก นับจากนั้นมาจนถึงปี 2002 ทีมผลัด 4x100 สาวไทยก็รักษาความยอดเยี่ยมมาตลอด ทำอันดับติด 1 ใน 3 ของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ เว้นแค่เพียงปี 2006 เท่านั้นที่ไม่ได้เหรียญรางวัล เพราะถูกปรับฟาวล์ในรอบชิงชนะเลิศ อย่างไรก็ตามในกวางโจวเกมส์ 2010 ทีมไต้ฝุ่นสาวไทยสามารถลบฝันร้ายเมื่อ 4 ปีก่อนลงได้ หลังเบียดเอาชนะนักวิ่งเจ้าภาพต่อหน้ากองเชียร์ชาวจีน คว้าเหรียญทองไปได้ชนิดที่เป็นหนึ่งในโมเมนต์แห่งความทรงจำของคนไทย และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ทีมผลัดสาวไทยได้สัมผัสเหรียญรางวัลในเอเชียนเกมส์

ส่วนในประเภทบุคคล ความยิ่งใหญ่ของ อาณัติ รัตนพล ถ้าไม่ถูกเอ่ยถึงก็คงถือว่าผิด เพราะเขาเป็นนักวิ่งระยะสั้นไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยในปี 1970 เปิดตัวต่อหน้าคนในกรุงเทพได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการคว้า 2 เหรียญทองจากวิ่ง 200 ม. กับผลัด 4x100 ม. โดยอีเวนต์ 200 ม. เจ้าตัวได้สร้างสถิติการแข่งขันเอเชียนเกมส์ขึ้นมาใหม่ได้อีกด้วย นอกจากนี้นก็ยัง 1 เหรียญเงินจากวิ่ง 100 ม. 

จากนั้นในปี 1974 ที่กรุงเตหะราน เขากวาด 3 เหรียญทองในการวิ่งระยะสั้นเพียงคนเดียว ทั้งวิ่ง 100 ม., 200 ม., และพาทีมผลัดป้องกันแชมป์ 4x100 ม. เอาไว้ได้สำเร็จ โดยระยะ 200 ม. อาณัติ ยังได้สร้างสถิติเอเชียนเกมส์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง 

ส่วนเหรียญทองเหรียญสุดท้ายของเจ้าตัวทำได้ในปี 1978 พาทีม 4x100 ม. คว้าแชมป์ครั้งที่ 3 ติดต่อกัน สรุปแล้ว อาณัติ คว้าไปทั้งหมด 6 เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ 

ความสำเร็จของกรีฑาไทยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมี​ สุชาติ แจสุรภาพ คว้าเหรียญทองวิ่ง 100 ม. ชาย ในเอเชียนเกมส์ 1978  เช่นเดียวกับ อุษณีย์ เล่าปิ่นกาญจน์ ที่คว้าเหรียญทองวิ่ง 200 ม. หญิง ในเอเชียนเกมส์ 1978 ซึ่งเป็นเหรียญทองประเภทบุคคลเพียงเหรียญเดียวของกรีฑาประเภทลู่สาวไทย ขณะที่ บัวบาน ผามั่ง ก็เป็นนักกรีฑาประเภทลานเพียงคนเดียวของไทยที่คว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ โดยทำได้จากพุ่งแหลนในปี 2006

บิวนำทัพไต้ฝุ่นไทยลุ้นทองรอบ 17 ปี

สำหรับเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือหางโจวเกมส์ ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยกรีฑา จะแข่งขันระหว่างวันที่ 29 กันยายนถึง 5 ตุลาคมนี้ ชิงชัยทั้งหมด 48 เหรียญทอง แข่งขันกันภายในสนามกีฬาศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว 

ในส่วนของกรีฑาไทยได้คัดเลือกนักกีฬาที่มีสถิติดีที่สุดไปแบบจัดเต็ม นำทีมโดย “บิว” ภูริพล บุญสอน ลดกรดตัวความหวังวัย 17 ปี ได้ลุยแข่งเอเชียนเกมส์เป็นสมัยแรก จะผนึกกำลังกับเพื่อนร่วมทีมผลัด 4x100 ม. ชาย ซึ่งกำลังอยู่ในฟอร์มที่ยอดเยี่ยม เพิ่งคว้าแชมป์เอเชีย 2023 พร้อมสร้างสถิติใหม่ขึ้นมาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป้าหมายคือการทวงเหรียญทองในอีเวนต์นี้กลับสู่เมืองไทยอีกครั้ง หลังห่างหายมานานถึง 17 ปี ครั้งสุดท้ายที่ไต้ฝุ่นไทยคว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ ต้องย้อนกลับไปในปี 2006 ที่กรุงโดฮา ซึ่งในปีนั้นเจ้าบิวเพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

 นอกจากนั้นนักกีฬาที่ทำผลงานได้ดีจากเมื่อ 5 ปีก่อนก็ยังอยู่กันครบ อาทิ คีริน ตันติเวทย์ เจ้าของเหรียญทองแดงวิ่ง 10,000 ม., สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ ทศกรีฑาดีกรีรองแชมป์เก่าและรองแชมป์เอเชียคนล่าสุด, ปริญญา เฉื่อยมะเริง เหรียญเงินเขย่งก้าวกระโดด, สุเบญรัตน์ อินแสง เหรียญเงินขว้างจักรหญิง และชญาณิศา ชมชื่นดี เหรียญเงินกระโดดค้ำถ่อ พร้อมลงเป็นความหวังให้ทีมกรีฑาไทยอีกครั้ง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.