เปิดความเห็น กฤษฎีกา เตือน รัฐกู้เงินออมสิน แจกเงินดิจิทัล1หมื่น ขัดกฎหมาย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า หลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือหลายครั้ง และมีการได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า โครงการนี้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบกฎหมายหรือไม่
โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ศ. 2485 ที่ให้อำนาจ ธปท. องค์กรเดียวในการออกเงินตรา และพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 9 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่ายใช้หรือนำออกใช้ ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดฯแทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้ง พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน ทำให้ต้องเสนอเรื่องไปให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่าขัดต่อข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำหนังสือตอบกลับมาแล้วถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แบ่งเป็น 3 กรณี ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สามารถดำเนินนโยบายได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
2.พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สามาถดำเนินนโยบายได้ ถ้าสามารถเก็บเงินหรือให้ร้านค้าที่รับเงินเป็นคนสุดท้ายเบิกเป็นเงินสดออกมาได้ภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาโครงการไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ถ้าไม่เก็บกลับภายในระยะเวลาโครงการและยังปล่อยให้มีการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายต่อจะถือว่าขัดต่อกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นสกุลเงินใหม่
3.พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขัดต่อข้อกฎหมาย เพราะผิดวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน ซึ่งไม่สามารถให้รัฐยืมเงินได้ เพราะมาตรา 7 พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจธนาคาร 8 ข้อ คือ 1.รับฝากเงินออมสิน 2. ออกพันธบัตรออมสิน และสลากออมสิน
3. รับฝากเงินออมสินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว 4. ทําการรับจ่ายและโอนเงิน 5. ซื้อหรือขายพันธบัตรรัฐบาลไทย 6. ลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งรัฐมนตรีอนุญาต 7. การออมสินอื่น ๆ ตามที่จะมีพระราชกฤษฎีกากําหนดไว้ 8. กิจการอันพึงเป็นงานธนาคาร ตามที่จะมีพระราชกฤษฎีกากําหนดไว้ ทั้งนี้ ให้ประกอบได้ตามข้อกําหนดและเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง
แหล่งข่าว ระบุกับฐานเศรษฐกิจอีกว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯนั้น อนุกรรมการหลายคนได้แสดงความกังวลว่า หากมีการเก็บกลับ ก็ทำให้เงินไม่หมุนต่อ ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลต้องการและการเก็บกลับ รัฐบาลต้องหางบประมาณมาจ่ายให้กับพ่อค้าที่ได้รับเงินดิจิทัลจากประชาชน ซึ่งงบประมาณที่รัฐบาลต้องใช้จะมีจำนวนสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ จึงต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมาจ่ายแทน หากมีการนำมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาใช้ โดยให้รัฐวิสาหกิจดำเนินโครงการแทนรัฐบาลไปก่อนแล้ว รัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลัง ก็จะมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล 2-3% สร้างภาระทางการคลังยะระยาว เสี่ยงถูก ป.ป.ช. สตง. ดำเนินคดี
นอกจากนี้ยังมีการหารือกันอย่างกว้างขวางในที่ประชุมอนุกรรมการ คือ จะมีการการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ได้อย่างไร แต่ที่ประชุมก็ยังไม่สามารถหาแนวทางป้องกันได้ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตอนนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ฝ่ายการเมืองตัดสินใจว่า จะมีแนวทางแก้ปัญหาแต่ละเรื่องตามที่หน่วยงานราชการกังวลอย่างไร
แต่อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่มีคำตอบ หรือแนวทางที่ชัดเจนในประเด็นต่า ๆ นายจุลพันธ์ ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ที่มาของแหล่งเงินและแอปพลิเคชัน ที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ ถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจจะต้องทำให้เลื่อนการแจกเงินหรือไม่
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.