เปิดแถลงการณ์ร่วม ไทยประกาศชัดหนุนจีนเดียว
กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ แถลงการณ์ข่าวร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเนื้อหาดังนี้
19 ตุลาคม 2566 กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
1. ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ระหว่างวันที่ 16 - 19 ตุลาคม 2566 ในห้วงการเยือน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง และประธานสภาประชาชนแห่งชาติจ้าว เล่อจี้ ได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตามลำดับ
2. ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงการเยือนประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จด้วยดีของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และถ้อยแถลงร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 โดยกล่าวชื่นชมความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของการเยือนดังกล่าว และเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามฉันทามติและผลลัพธ์สำคัญของการเยือน เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น
3. ผู้นำทั้งสองประเทศย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีนที่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นที่มีความสนใจและห่วงใยร่วมกัน และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความซับซ้อนและผันผวน ยึดมั่นในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย - จีนด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวและมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความเข้าใจเรื่องความเป็น “จีน - ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” อย่างต่อเนื่อง และบรรลุการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ในโอกาสที่ทั้งสองประเทศมุ่งสู่วาระการฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2568
4. ฝ่ายจีนแสดงความยินดีต่อประเทศไทยสำหรับความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในปีนี้ และแสดงความสนับสนุนต่อประเทศไทยในการรักษาเสถียรภาพ ส่งเสริมการพัฒนา และการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ฝ่ายไทยแสดงความชื่นชมอย่างสูงต่อความสำเร็จยิ่งใหญ่ในการพัฒนาประเทศของจีนในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา และแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนจะสามารถพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่มีความทันสมัยรอบด้าน บรรลุเป้าหมาย 100 ปี ประการที่ 2 และเดินหน้าการฟื้นฟูชาติจีนที่ยิ่งใหญ่ในทุกด้านผ่านแนวทางการสร้างความทันสมัยในแบบจีน
5. ทั้งสองฝ่ายจะคงการสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นผลประโยชน์หลักและข้อห่วงกังวลสำคัญของแต่ละฝ่าย ฝ่ายจีนเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ฝ่ายไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ และยอมรับว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งปวง และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ฝ่ายไทยสนับสนุนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน
6. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะรักษาการติดต่อและแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้นำ และแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างทันท่วงทีเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อกระชับการพูดคุยเชิงยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองระหว่างกัน และขับเคลื่อนทิศทางความสัมพันธ์ไทย - จีน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565 - 2568) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนฉันมิตรและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานราชการและหน่วยงานระดับท้องถิ่นของทั้งสองฝ่าย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในสาขาต่าง ๆ อาทิ การบริหาร
7. ทั้งสองฝ่ายชื่นชมอย่างยิ่งต่อความร่วมมือกันภายใต้กรอบข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง โอกาสครบรอบ 10 ปีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาของไทย และดำเนินการตามแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อบรรลุการพัฒนาร่วมกันที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพยายามอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย - ลาว - จีน เร่งการก่อสร้างโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน และการเชื่อมโยงรถไฟจีน - ลาวกับระบบรางของไทยโดยเร็ว เพื่อยกระดับห่วงโซ่โลจิสติกส์ ห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเสริมสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันในอนุภูมิภาค
8. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเรื่องการให้ความสำคัญกับบทบาทของกรอบคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี ขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านการค้า การลงทุน การเกษตร ป่าไม้ การประมง โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลข่าวสารและโทรคมนาคม และสาขาอื่น ๆ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าขายผลิตภัณฑ์เกษตรแบบทวิภาคีต่อไป และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เวทีส่งเสริมการค้าและการลงทุน และงานแสดงสินค้าและกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายจัดขึ้น ฝ่ายไทยยินดีต้อนรับการขยายการลงทุนของจีนในประเทศไทย และทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการบรรลุข้อสรุปต่อการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีนภายในสิ้นปี 2567 ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ฝ่ายไทยสนับสนุนการเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน
9. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว กีฬา เยาวชน หน่วยงานคลังสมอง สื่อมวลชน และเมืองพี่เมืองน้อง ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างนักท่องเที่ยวมากขึ้นและย้ำความสำคัญของการให้บริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะรื้อฟื้นการหารือเกี่ยวกับความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมให้วิสาหกิจด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว พัฒนาทรัพยากรบุคคล และสนับสนุนการขยายตลาดท่องเที่ยวและการพัฒนาองค์กรซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนวิสาหกิจด้านการขนส่งทางอากาศของตนให้เพิ่มเที่ยวบินระหว่างไทย - จีนโดยสอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้า และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
10. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมและการบังคับใช้กฎหมาย ส่งเสริมความร่วมมือในด้านการฝึกซ้อมร่วม การฝึกอบรมบุคลากร สิ่งอุปกรณ์และเทคโนโลยี กฎหมาย และระบบยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนร่วมกันป้องกันและกระชับความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ ขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ ดิจิทัล และโทรคมนาคม การฟอกเงิน และการก่อการร้าย
11. ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงการส่งเสริมพหุภาคีนิยมและความร่วมมือระหว่างประเทศ ฝ่ายไทยชื่นชมบทบาทของจีนในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลก และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในความร่วมมือภายใต้กรอบข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี 2573 โดยเร็ว
ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาความร่วมมือที่เป็นไปได้ภายใต้กรอบข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลกและข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความท้าทายของความมั่นคงแบบดั้งเดิมและความมั่นคงรูปแบบใหม่ ตลอดจนส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนา ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพ ต่อไป
12. ทั้งสองฝ่ายย้ำการยึดมั่นต่อภูมิภาคนิยมที่เปิดกว้างและครอบคลุม เพื่อสร้างภูมิภาคที่สงบสุข ปลอดภัยและมั่นคง เจริญรุ่งเรือง สวยงาม และเป็นมิตร กระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน - จีน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียน - จีนที่มีอนาคตร่วมกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมการสอดประสานและการสนับสนุนเกื้อกูลระหว่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันที่มีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ฝ่ายไทยพร้อมที่จะทำหน้าที่ประธานร่วมกรอบ MLC ในวาระถัดไป และทำงานร่วมกับจีนอย่างใกล้ชิดในการเสริมสร้างการบูรณาการในอนุภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบ MLC
13. นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แสดงความขอบคุณฝ่ายจีนสำหรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเยือนที่มีต่อการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แสดงความซาบซึ้ง ต่อการต้อนรับที่อบอุ่นและเป็นมิตรของฝ่ายจีน และเชิญผู้นำจีนเยือนไทยในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก
ในช่วงการเยือนครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือในด้านการทูต ความร่วมมือข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง เศรษฐกิจดิจิทัล ศุลกากร (การส่งออกเสาวรสผลสด) ภาพยนตร์ วัฒนธรรม สื่อสารมวลชน และอื่น ๆ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.