ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาใหม่ให้ป.ป.ช.เปิดข้อมูลนาฬิกา'ประวิตร'
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. คดีที่มีผู้อื่นขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หลังจากที่นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันยื่นคำขอ
เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้สำนักงาน ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในคดีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร ได้แก่
- รายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด
- ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคน ที่รับผิดชอบในเรื่องกล่าวหาดังกล่าว
- รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2562 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
คดีสืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ. ๗๘๙/๒๕๖๔ หมายเลขแดงที่ อ. ๒๒๔/๒๕๖๖ ระหว่าง นาย ว. ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสามรายการ
ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๓๓๓/๒๕๖๒ แก่ผู้ฟ้องคดี ๓ รายการประกอบด้วย ๑. รายงานและสำนวนการตรวจสอบ การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ
การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้น กรณีดังกล่าว ๒. ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคน
ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว และ ๓. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่า ๑. คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนี้มีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้เสียหายตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ศาลมิได้พิจารณาถึงความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีของผู้ฟ้องคดี จึงทำให้กระบวนพิจารณาคดีของศาลคลาดเคลื่อน และเอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ และมาตรา ๑๕ (๒) (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐
รวมทั้งอ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒ คดี คือ คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๖๘๑/๒๕๖๐ กับคดีหมายเลขแดงที่ อร. ๗๔/๒๕๖๔ แต่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเฉพาะคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ อร. ๗๔/๒๕๖๔ ๒. คำพิพากษาคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยหลักกฎหมาย กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๓๖ วรรคสาม ห้ามมิให้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่
จะเป็นการเปิดเผย เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น
ทั้งนี้ ให้ถือเป็นความลับของทางราชการ ตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมายกเว้นมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ และ ๓. การไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามคำวินิจฉัยของศาล
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๑๔๖๑ /๒๕๖๖ และคำสั่งที่ ๑๔๖๒/๒๕๖๖ ยืนตามคำสั่งของ
ศาลปกครองกลาง โดยวินิจฉัยว่า ความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งอันแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวในชั้นตรวจคำฟ้องก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว แม้ประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ ๙๒ ประกอบข้อ ๑๑๖ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ
ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม
แต่เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเองก็มิได้ยกขึ้นโต้แย้งทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี
ของศาล จะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้โต้แย้งการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี ทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ตามที่กล่าวมา ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยและระบุไว้ในคำพิพากษา
กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลมีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กล่าวอ้างซึ่งจะทำให้ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๒ และตามมาตรา ๑๕ (๒) (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อ้างพยานหลักฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๖๘๑/๒๕๖๐ และคดีหมายเลขแดงที่ อร. ๗๔/๒๕๖๔ โดยมิได้พิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๖๘๑/๒๕๖๐ ซึ่งมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ และการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๒๒๔/๒๕๖๖ ได้วินิจฉัยไว้แล้ว
กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.