จุรินทร์กระทุ้งรัฐบาลอย่ายึดรธน.40เป็นตัวตั้งห่วงตรวจสอบนายกฯ ไม่ได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติและกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยของรัฐบาลว่า ด้วยหลักการในเรื่องของการไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องที่ทั้งตนและพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน และล่าสุดตนก็ได้แสดงจุดยืนในการประชุมรัฐสภาตอนแถลงนโยบายของรัฐบาลอีกครั้งชัดเจนแล้ว

แต่ที่ต้องทักท้วงไว้เสียแต่ต้นคือ หลักคิดในเรื่องของการที่รัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (รธน.40) เป็นต้นแบบนั้น ตนขอให้คิดให้รอบคอบ เพราะ รธน.40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป จนบางยุคทำให้การตรวจสอบรัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีทำได้ยากมาก จนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้เลย หากนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่า 3 ใน 5 คือเกินกว่า 300 เสียงขึ้นไป

เนื่องจากรธน.40 ได้ระบุว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้  ฝ่ายค้านต้องมีเสียงเกินกว่า 200 เสียงหรือ2ใน 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้บางยุคไม่สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้เลยตลอดอายุรัฐบาล นำไปสู่การมีรัฐบาล”กินรวบ”ดังที่เคยประสบในบางยุค

นั่นคือ หากนายกรัฐมนตรีอาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญตั้งรัฐบาลเกิน 300 เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบตั้งแต่ต้น  อีกทั้ง รธน.40 ก็ยังให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าไปมีบทบาทในการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระต่าง ๆ จนนำไปสู่การใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหารเกิดรัฐบาล "กินรวบ" จนต้องแก้ไขในปี 2550 ในที่สุด

นอกจากนี้ นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ถ้าใช้รธน.40 มาสวมในสถานการณ์ปัจจุบันการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะรัฐบาลมีเสียงเกิน 3 ใน 5 นั่นคือมีถึง 314 เสียง ฝ่ายค้านมีไม่ถึง 200 เสียง ก็จะไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ถ้านายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ล้มเหลวและเกิดการทุจริตคอรัปชั่นขึ้นมาในอนาคต จะเท่ากับพาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตได้อีก  จึงควรคิดกันให้รอบคอบ

ทั้งนี้ นายจุรินทร์เน้นย้ำว่าที่แสดงความเห็นเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าจะตั้งธงอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกแล้ว ซึ่งตนขอพูดเสียก่อนเลยว่าไม่เกี่ยวกันและยังไม่ใช่เวลา เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น ตนเพียงแต่ต้องการทักท้วงไว้เพราะ รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญของประเทศและหากแก้แล้วต้องใช้ต่อไปในอนาคต จะได้ไม่พาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดในอดีตที่เราไม่อยากเห็นอีก

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.