“กรณ์” ชี้ เงินดิจิทัล 10,000 บาท เพิ่มภาระการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีเงินดิจิทัล 10,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย ผ่านทาง Facebook แฟนเพจอย่างเป็นทางการ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ว่าด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กับ ภาระทางการคลัง 

ระหว่างที่ถกเถียงกันเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขอให้สังเกตประมาณการสถานะทางการเงินล่าสุดของประเทศให้ดีครับ

กระทรวงการคลังเสนอประมาณการชุดนี้ในการประชุมครม.แรกของ #รัฐบาลเศรษฐา สำหรับใครที่ไม่ชอบดูตารางข้อมูลแบบนี้ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญให้ดังนี้ 

1. รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น

2. แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า

3. รัฐบาลเลยจะขาดดุลมากขึ้น (3% ของ GDP จากที่เดิมคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ในปีหน้า)

4. ในขณะที่เศรษฐกิจโตช้ากว่าที่คาดไว้เดิม

5. ดังนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงสูงขึ้นมาก (64% vs. เดิม 61.35%) 

แล้วไง?

ประมาณการใหม่นี้กำลังสร้างความกังวลให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างมาก เพราะอะไร? 

เพราะทุกอย่างมีต้นทุน คือมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ซึ่งราคาที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10ปี ทะลุ 3% ไปแล้ว เพิ่มขึ้นมากว่า 50bps ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

และประมาณการนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งอย่างไรรัฐบาลก็ต้องกู้ หรือยืมรัฐวิสาหกิจมาแจก

วันนี้หนี้รัฐบาลมีอยู่ 11 ล้านล้านบาท 

รัฐบาลต้องออกพันธบัตรใหม่มาชำระชุดเก่าตลอดเวลา ซึ่งต้นทุนก็จะมีแต่สูงขึ้น เป็นภาระต่องบประมาณมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่นการส่งออกที่ซบเซา ราคานํ้ามันโลกที่สูงขึ้น รวมไปถึงรายจ่ายภาครัฐจากนโยบาย ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ของรัฐบาลใหม่

จุดแข็งของไทยเราคือ เราแทบไม่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศ แต่อย่างไรเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ระวังไม่ได้ครับ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.