ส่งหนังสือด่วนที่สุด เร่งทุกหน่วยงานราชการ ดัน 16 นโยบาย “เศรษฐา”
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ขณะนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวง และ กรมต่าง ๆ รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รับข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. นัดแรก รวม 16 ข้อไปเร่งดำเนินการ
สำหรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณามอบหมายในเรื่องต่าง ๆ รวม 16 ข้อ ดังนี้
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
มติ มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
มติ มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ พิจารณาดำเนินการ ในประเด็นการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไข ในหมวดพระมหากษัตริย์
พร้อมทั้งให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วนในการออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา
เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและประเทศ สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รวมทั้งเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ด้วย
3. การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบียบที่เป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการปฏิบัติงานหรือการใช้ชีวิตของประชาชน
มติ ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเรื่องต่าง ๆ ในความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการของภาครัฐที่มีผลกระทบต่อการอำนวยความสะดวก และการให้บริการประชาชน รวมถึงการอนุมัติ อนุญาตแก่ภาคเอกชน โดยให้คงอยู่ไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็น และหากเรื่องใดที่ไม่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดเงื่อนไขไว้ ให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติ ขออนุญาต
ทั้งนี้ ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐแจ้งยืนยันการคงอยู่ของมติคณะรัฐมนตรี ในความรับผิดชอบที่สมควรให้มีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป ต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายในวันที่ 25 กันยายน 2566 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ามติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ๆ มีผลสิ้นสุดไป รวมทั้งให้นำแนวทางข้างต้นไปใช้กับการพิจารณาการตรากฎหมายในระดับต่าง ๆ ด้วย
4. การทบทวนประกาศ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ยังคงมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน
มติ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ทบทวนความจำเป็น เหมาะสมของประกาศคสช. คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับต่าง ๆ ที่ยังคงมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน โดยหากประกาศ หรือคำสั่งใดสมควรให้คงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป หรือสมควรยกเลิก ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2566
5. นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
มติ มอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมหารือของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษารายละเอียดของแนวทางในการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้ชัดเจน แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน
6. การพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
มติ มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยให้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน 2 สัปดาห์
7. นโยบายด้านพลังงาน
มติ มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการลดราคาพลังงาน ให้ครอบคลุมทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน
8. การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์
มติ มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการให้ครบถ้วน เพื่อดำเนินงานต่อไป
9. การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และลานีญา (La Nina)
มติ มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับไปดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายจังหวัด เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นกรรมการให้ครบถ้วน
เพื่อเป็นกลไกในการพิจารณาเตรียมการรองรับสถานการณ์และผลกระทบ จากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และลานีญา (La Nina) ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีข้างหน้า
10. นโยบายด้านการประมง
มติ มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับไปดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทย เพื่อความยั่งยืนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษา ของคณะกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการให้ครบถ้วน
เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมประมงให้เป็นระบบและครบวงจร โดยให้คำนึงถึงการบริหารทรัพยากร ทางทะเลอย่างยั่งยืนด้วย
11. นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค)
มติ มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อยกระดับการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) โดยด่วน เพื่อพิจารณาดำเนินการปรับปรุงระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสามารถ ให้บริการการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
12. นโยบายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
มติ มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) สำหรับนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขและขั้นตอน การเข้าประเทศสำหรับผู้ที่เข้ามาจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ โดยให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 25 กันยายน 2566
13. การปราบปรามผู้มีอิทธิพล
มติ มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลการครอบครอง และพกพาอาวุธปืน ยาเสพติด การรับสินบน และการซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการให้บรรลุผล อย่างเป็นรูปธรรม
โดยการครอบครองและพกพาอาวุธปืนและอาวุธอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ควรกำหนดให้ผู้ครอบครองนำมามอบแก่ทางราชการที่สถานีตำรวจในภูมิลำเนาภายใน 30 วัน
ส่วนอาวุธปืน และอาวุธอื่น ๆ ที่มีทะเบียนถูกต้อง หากผู้ครอบครองจำเป็นต้องพกพาให้ดำเนินการขออนุญาตพกพา ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป
14. การปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ
มติ มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง เร่งศึกษาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดในการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการโดยแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง ทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ ทั้งนี้ ให้เร่งรัดการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567
15. การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ
มติ มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกท่านกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐในกำกับดูแลให้ถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของภารกิจที่กำหนดไว้ บนพื้นฐานของความจำเป็นและประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางไปร่วมประชุม สัมมนา ดูงาน ของผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน
16. การลดขนาดขบวนรถเดินทางของรัฐมนตรี
มติ มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกท่านพิจารณาปรับลดจำนวนคนและรถนำขบวนให้เหมาะสม เท่าที่จำเป็น เพื่อให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้น้อยที่สุด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.