“ดร.ณัฏฐ์”ผ่าร่างกม.จัดระเบียบกลาโหมกดทหารอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลพลเรือน
กรณีนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและคณะเสนอสาระสำคัญของ ร่างพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ .ศ. ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสอง ในการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เเกี่ยวข้อง
ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมาย มหาชน เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ...ที่ นายประยุทธ์ นำเสนอ เป็นลับ ลวง พราง อาศัยจังหวะที่พลเรือนคุมทหารมาปรับแก้ ส่งผลให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจพลเรือน
แม้มีเจตนามุ่งหมายเพื่อป้องกันทหารในการยึดอำนาจก่อการรัฐประหาร และอ้างถึงการเจริญเติบโตหน้าที่การงานของทหารชั้นนายพลที่ไม่มีเส้นสายสัมพันธ์กับผู้บริหารห้าเสือในกองทัพเพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม
เป็นการกดทับให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน แม้การออกแบบใหม่ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผ่านการนำเสนอเห็นชอบโดยมติคณะรัฐมนตรี ถือว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในและการบริหารจัดการของกองทัพ ไม่ต่างจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเด็ดขาดในการเคาะว่า ใครสมควรจะเป็น ผบ.ตร.
ร่าง พรบ.ใหม่ เป็นการออกแบบกินรวบของฝ่ายการเมือง โดยฝ่ายบริหารให้ทหารอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคง เพราะประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีองค์ประกอบการปกครองของไทย คือ ระบอบประชาธิปไตย และสถาบันกษัตริย์ การออกแบบการปรับเปลี่ยนอำนาจภายในกองทัพรรูปแบบใหม่ ไม่ได้แก้ปัญหาการหยุดอำนาจรัฐประหาร ต้องให้ทหารจัดการกันเอง พลเรือนจะไปกำกับควบคุมทหารไม่ได้
แม้การออกแบบ ห้ามทหารทำการรัฐประหาร ในร่างพระราชบัญญัติ ฯ มาตรา 35 ที่ว่า ห้ามมิให้ใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารเพื่อกระทำการดังต่อไปนี้
(1) เพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ
(2) เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของส่วนราชการต่างๆ
ส่วนวรรคสอง ที่ว่า ข้าราชการทหารผู้ใดได้รับคำสั่งให้กระทำการตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิ์ที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้ โดยมิให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยทหารหรือกฎหมายอาญาทหาร”
ในทางปฏิบัติไม่อาจห้ามทหารได้ เหมือนกับการเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะกองทัพจะเข้ามายึดอำนาจได้นั้น เพราะการกระทำของรัฐบาลเองทั้งสิ้น เพราะหยุดอำนาจของรัฐบาลที่ทำให้ประเทศเสียหาย
ขอตั้งข้อสังเกตว่า หากทหารไม่เชื่อฟัง และฝ่าฝืน กระทำการรัฐประหารสำเร็จ มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะมีความผิดอาญาหรือไม่ เพราะเท่าที่อ่านร่าง พรบ.ฯ ไม่มีโทษทางอาญา ประกอบกับศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ว่า “การที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติได้และมีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจสำเร็จ หมายถึง ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ
เมื่อถามว่า ร่างพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ...ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการจัดลำดับนายพลและเลื่อนชั้นนายพลด้วย และนำเสนอ ครม. เห็นว่าอย่างไร “ดร.ณัฏฐ์” กล่าวว่า ทหารกับตำรวจ แยกต่างหากจากกัน ตาม พรบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ ให้นายกรัฐมนตรี กุมอำนาจเป็นประธานในการเลือกว่า บุคคลใดเหมาะสมเป็น ผบ.ตร. แม้กระทำในรูปคณะกรรมการก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเด็ดขาด
แต่ผู้นำทหาร ให้อำนาจ ทหารเลือกกันเอง แม้จะกระทำในรูปแบบคณะกรรมการ แต่ร่างฯพรบ.ใหม่ ทำให้ทหารของพระราชา จะต้องถูกกำกับควบคุมโดยพลเรือน แม้จะผ่านมติ ครม. จะเกิดปัญหาการแทรกแซงทหารโดยพลเรือน ส่งผลให้ทหารอยู่ภายใต้นักการเมือง ถึงฤดูกาลแต่งตั้งทหารชั้นนายพลและห้าเสือภายในกองทัพ จะวิ่งฝุ่นตลบ เพื่อเข้าสู่ฐานอำนาจ เพราะในทางการเมือง ฝ่ายบริหารจะแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามานั่ง โดยอ้างความเหมาะสม แต่จะมีความสามารถในการบริหารงานหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง ทำให้ระบบทหารอ่อนแอ ย่อมส่งผลต่อความแข็งแกร่งของกองทัพ เพราะการออกแบบใหม่ตามร่าง พรบ.ใหม่ จะอ้างเหตุผลร้อยแปดก็ตาม เพื่อให้พลเรือนมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมกำกับทหาร
ส่วนที่ถามว่า ร่าง พรบ.ฯ ข้อเท็จจริงพบว่า ทหารยึดอำนาจ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราว มีความเห็นว่าอย่างไร “ดร.ณัฏฐ์”กล่าวว่า เป็นชิงเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบ ระหว่างที่ทหารกำลังยึดอำนาจ ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร โดยนายกรัฐมนตรี เห็นชอบโดยมติคณะรัฐมนตรี สั่งปลดกลางอากาศ เช่น การยึดอำนาจสำเร็จ แต่นายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลผลัดถิ่น ใช้อำนาจต่อสู้ฝ่ายทหารที่ยึดอำนาจ จะเห็นได้จาก ร่าง พรบ.มาตรา 35/1 เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่านายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใดได้กระทำการหรือตระเตรียมการเพื่อกระทำการตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (1) ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้”
การออกแบบเพื่อให้อำนาจฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจทหารปลดกลางอากาศ แต่อย่าลืมว่า หากกระทำโดยมิใช่ทหาร แต่เป็นทหารนอกราชการหรือทหารชั้นประทวนกับพลเรือน นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถใช้อำนาจปลดได้ เพราะมาตรานี้ มุ่งหมายถึงข้าราชการทหารนายทหารชั้นสัญญาบัตร
แต่ข้อเท็จจริง หากยึดอำนาจ กองทัพจะประกาศกฎอัยการศึก นายกรัฐมนตรีแม้จะมีอำนาจตามมาตรา 35/1 ตามร่าง พรบ.ใหม่ แต่อำนาจเด็ดขาดเป็นของกองทัพ ในการประกาศกฎอัยการศึก โดยฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี ไม่อาจสั่งยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกได้ เพราะต้องกระทำโดยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยพระบรมราชโองการยกเลิกกฎอัยการศึก ดังนั้น หากร่างฉบับนี้ ผ่าน จะทำให้ทหารอยู่ภายใต้การเมือง และขาดอิสระ ส่งผลกระทบต่อความเถียรภาพความมั่งคงของกองทัพฯตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.